Leadership แบบนี้คือใช่เลย รวมเทคนิคบริหารทีมให้ได้ใจลูกน้อง

Last updated: 18 Oct 2022  |  1814 Views  | 

Leaderships

Leadership นั้นมีบทบาทและมีความสำคัญมากๆ กับการทำงานในยุคศตวรรษที่21 เพราะถ้าหากขาดการนำทีมที่ดีของผู้นำไป สมาชิกที่เหลืออาจจะทำงานแบบไร้ทิศทาง ไม่มีจุดมุ่งหมาย ทำให้คุณภาพของงานไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ หรือในบางครั้งทีมมีผู้นำที่มี Leadership skill หลากหลายก็จริง แต่กลับไม่ได้รับความไว้วางใจจากลูกน้อง  ซึ่งสิ่งนี้เองจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการบริหารทีมในองค์รวมเช่นกัน  ดังนั้น ในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการอบรมพัฒนาผู้นำก็มักจะเน้นการสร้างทักษะความเป็นผู้นำควบคู้ไปกับหัวใจสำคัญของการสร้างทีมงาน นั่นก็คือการสร้าง Trust หรือ การสร้างความเชื่อใจให้เกิดขึ้นระหว่างหัวหน้าและลูกน้องด้วยเพราะความเชื่อใจหรือ Trust มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ทีมเกิดการร่วมมือร่วมใจจนทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ผู้นำควรมีวิธีการแบบไหน ปฏิบัติต่อลูกน้องอย่างไร ถึงจะสร้างความเชื่อใจได้ วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้นำที่ต้องการพัฒนาตัวเองมาฝากกัน

Leadership คืออะไร

Leadership คือ ภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่งในบทความของ Kevin Kruse ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Employee Engagement 2.0 และ Great Leaders Have No Rules ได้สรุปความหมายไว้ว่า “ภาวะความเป็นผู้นำคือ เป็นกระบวนการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มหรือต่อสังคม ช่วยกระตุ้น ให้คนอื่น ๆ มีความพยายามเพิ่มขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้” หรือถ้าจะอธิบายคำว่า Leadership ให้เข้าใจง่ายขึ้นก็จะได้ดังต่อไปนี้ “ภาวะความเป็นผู้นำคือลักษณะของบุคคลที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มหรือต่อสังคม มีความสามารถในการชี้นำหรือชักจูงให้บุคคลอื่นๆ ให้มีความพยายามที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายของทีมหรือองค์กร” ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจว่าผู้นำทุกคนจะต้องมีทักษะนี้อย่างแน่นอน ถึงจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้  

ในความเป็นจริง หลายต่อหลายครั้งที่เราเห็นการปรับตำแหน่งจาก Individual Contributor หรือคนที่ทำงานคนเดียวโดยยังไม่มีลูกน้องขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าเพื่อนำทีมก็จากการที่เขาเหล่านั้นทำงานในหน้าที่ที่ทำคนเดียวได้ดี ยกตัวอย่างเช่น เซลล์ท่านหนึ่งมี Performance หรือผลงานในการขายและดูแลลูกค้าได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถเพิ่มยอดขายของบริษัทและหาลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่อง เมื่อมีโอกาสจึงได้รับตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย และดูแลลูกน้องอีก 10 กว่าชีวิต เราจะเห็นได้ว่าความสามารถและทักษะที่เซลล์ท่านนี้มีและเป็นเหตุผลในการปรับตำแหน่งเพราะขายของเก่งนั้นเป็นคนละความสามารถหรือทักษะที่จำเป็นต้องมีในการมานำทีมและดูแลลูกน้อง

ดังนั้น หลายต่อหลายครั้งที่เราพบว่าผู้นำบางคนยังขาด Leadership skill ที่จำเป็น จึงทำให้การบริหารงานในแต่ละครั้งไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร องค์กรหลายแห่งจึงต้องการพัฒนาผู้นำให้มีภาวะความเป็นผู้นำให้มากขึ้น สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการตัดสินใจที่ดี สื่อสารกับลูกน้องได้ตรงประเด็นและชัดเจน และที่สำคัญสามารถสร้าง Trust หรือความเชื่อใจ กับลูกน้องในทีมงานของตนเองได้ จนส่งผลให้ทุกคนในทีมทำงานประสานสอดรับกันได้ดี เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ 

เทคนิคการสร้าง Trust  หรือความเชื่อใจเพื่อบริหารทีมจนได้ใจลูกน้องมีดังนี้

1.) พูดคุยแบบเปิดเผย จริงใจ ตรงไปตรงมา
แน่นอนว่าเวลาที่เราจะเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครสักคน การเป็นคนที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา มีความจริงใจ จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไว้วางใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากพัฒนาตัวเองให้ลูกน้องรู้สึกเชื่อใจ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน ก็จะต้องเริ่มจากการพูดคุยแบบจริงใจและเปิดใจ แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ ไม่ปิดบังหรือบิดเบือนความจริง แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆก็ควรจะคุยกันด้วยความจริงใจ ซึ่งตรงกับเนื้อหาในบทความบนเว็บไซต์ ของ Dr. Rick Jetter (rickjetter.com) ที่กล่าวไว้ว่า “We believe that one of the features that govern trust is sincerity.” หรือมีความหมายว่าพวกเราเชื่อว่าหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อใจก็คือ "ความจริงใจ" นั่นเอง

2.) ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน
นี่คืออีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากๆ ของการสร้างความเชื่อใจ เพราะการให้เกียรติสมาชิกในทีมเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้าง Trust ให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานในด้านใดหรืออยู่ในตำแหน่งอะไร ผู้นำที่ดีควรเคารพและเรียนรู้ความแตกต่างของทุกคน ใส่ใจและดูแลทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน ซึ่งสิ่งนี้ก็จะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกดีและมีความไว้วางใจในตัวผู้นำมากขึ้น และถือว่าเป็นอีกหนึ่งลักษณะที่สำคัญของผู้นำที่ดีเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นการให้เกียรติกันยังช่วยให้การทำงานภายในทีมเป็นไปได้อย่างราบรื่น เพราะทุกคนได้เรียนรู้จากผู้นำในการเป็นตัวอย่างที่ดีหรือ Role Model แล้วว่าควรเคารพซึ่งกันและกัน ปัญหาความขัดแย้งก็จะน้อยลงตามไปด้วย 

3.) เปิดใจรับฟัง ไม่รับตัดสินด้วยมุมมองของตัวเอง
เมื่อมีผู้พูดก็ต้องมีผู้ฟัง แต่จะฟังอย่างไรถึงจะได้รับความไว้วางใจจากลูกน้อง นี่คือหนี่งในโจทย์สำคัญของการพัฒนาผู้นำให้มีความสามารถในการบริหารงานได้ดีจนได้ใจลูกน้อง โดยเราอาจจะเริ่มจากการฝึกคิดก่อนพูด ในการฟังผู้นำควร ใช้หูและใจในการรับฟังเรื่องราวต่างๆ รวมถึงลองพยายามทำความเข้าใจ มองในมุมของผู้พูดก่อนที่จะตัดสินใจอะไร เพื่อให้เข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น การเปิดใจรับฟังสำหรับผู้นำถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะผู้ผู้นำส่วนใหญ่มักเชื่อว่าตนนั้นมีความรู้ และอาจจะมีประสบการณ์มากกว่าลูกน้อง แม้ว่าทักษะการฟังอย่างเปิดใจนั้นจะยากเพียงใด สำหรับผู้นำที่มีความตั้งใจอยากพัฒนาตัวเองให้เป็น  Engaging Leader ที่ได้ใจลูกน้องจะต้องทำให้ได้ การรับฟังแบบเปิดใจและไม่ตัดสินจะค่อยๆ สร้างความไว้วางใจหรือ Trust ระหว่างผู้นำและลูกน้อง  และสำหรับคนที่มีแนวโน้มที่จะไว้ใจคนอื่นได้อย่างมีเหตุผลนั้น สมองส่วน Ventral Medial Prefrontal Cortex ที่อยู่ในสมองส่วนหน้าและมีหน้าที่ในการประเมิน Social rewards จะ Active และมีปริมาณของ Grey Matter มากกว่าคนที่ไม่ไว้ใจผู้อื่น ซึ่งจะมีการกระตุ้นในสมองส่วนของ Amygdala มากกว่า อ้างอิงจากบทความของ University of Georgia

4.) ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้เห็น
“การกระทำสำคัญกว่าคำพูด” ยังคงเป็นประโยคที่ที่ใช้อธิบายได้ดีในหลายสถานการณ์ รวมไปถึงการพัฒนาคนให้มี Leadership ในสไตล์ที่ลูกน้องชอบและไว้ใจด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นการทำให้ลูกน้องได้เห็นว่าเราสามารถทำได้อย่างที่พูดไว้ ไม่เป็นคนที่ผิดคำพูด ก็จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจที่มีให้กันและกันได้ แม้ว่าบางเรื่องจะเป็นเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจจะมองข้าม เช่น การมาประชุมให้ตรงกับเวลาที่นัดไว้ หรือส่งอีเมมล์ไปให้ตามเวลาที่เราบอกเป็นต้น การที่เราไม่ในฐานะผู้นำไม่รักษาคำพูดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจจะส่งผลต่อระดับความเชื่อใจที่ลูกน้องมีให้กับเราได้และอาจจะส่งผลทำให้ลูกน้อง มองข้ามความสำคัญเรื่องกรอบของเวลาจนไม่ทำตามแผนและทำให้งานเสร็จล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ได้เช่นกัน ดังนั้น ใครที่อยากเป็นผู้นำที่มีสามารถ Building Trust ได้อย่างแข็งแกร่ง สามารถชี้นำผู้อื่นนางที่ดีได้ การระมัดระวังและฝึกที่จะรักษาคำพูดก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่อาจมองข้ามได้

5.) สนับสนุนและให้ความไว้ใจกับลูกน้อง
เราอยากให้ใครปฏิบัติแบบไหนกับเรา เราเองก็ต้องปฏิบัติแบบนั้นกับเขาก่อน ดังนั้นหากเราต้องการให้ลูกน้องเชื่อใจ และไว้ใจเราก็ต้องรู้จักที่จะเชื่อใจลูกน้องก่อนเช่นกัน เหมือนกับกฎทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่า Action = Reaction การที่จะสร้าง Trust ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้นำกับสมาชิกภายในทีม เราควรจะไว้ใจว่าคนในทีมสามารถทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ดีได้โดยอาศัยความสามารถที่เขามี สำหรับเราในฐานะหัวหน้าหรือผู้นำ มีหน้าที่ในการมอบหมายงานที่เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละคนภายในทีม โดยให้อิสระในการวางแผนงานของตัวเอง และผู้นำอย่างเราควรมีหน้าที่คอยสนับสนุนและให้คำแนะนำเท่านั้น แน่นอนที่สุด อาจจะมีบางเรื่องที่เราต้องเข้าไปช่วยตัดสินใจบ้าง แต่ก็ต้องไม่เยอะเกินไปจนทำให้ลูกน้องคิดว่าเราไม่ไว้ใจในฝีมือของ
พวกเขา นี่เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่จะช่วยให้คนภายในทีมรู้สึกไว้วางใจในตัวผู้นำ และยังเป็นการพัฒนาคนในองค์กรให้มีทักษะในการแก้ปัญหาและตัดสินใจที่ดีมากขึ้นด้วย

6.) มีความรับผิดชอบ
เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ผู้นำที่มี Leadership Skill ที่ดีจะมีหน้าที่ในการมีส่วนต้องรับผิดชอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วย โดยยอมรับความผิดในฐานะผู้นำ โดยไม่โทษคนอื่น ไม่หาเหตุผลมาอ้างเพื่อแก้ตัว หรือปัดความรับผิดชอบไปให้ลูกน้องของตัวเองเพียงคนเดียว และถึงว่าความผิดพลาดนั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการกระทำของตัวเองโดยตรงก็ตาม  การรับผิดพร้อมกับลูกน้อง ถือเป็นสถานการณ์ที่จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจได้ดี เพราะลูกน้องจะเห็นถึง ภาวะความเป็นผู้นำที่มีอยู่ในตัวเรา ทำให้เกิดความไว้ใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเวลาต้องการทำงานร่วมกันมากขึ้นด้วย เพราะหัวหน้ารับผิดด้วยกันไม่ใช่รับแต่ "ชอบ" เพียงอย่างเดียว 


7.) รับฟังความเห็นเพื่อพัฒนาตัวเอง
สิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผู้นำให้เป็น Engaging Leader จนสามารถคว้าใจลูกน้องได้ก็คือ การยอมรับฟังความเห็นจากลูกน้อง ไม่ถือความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นความเห็นเกี่ยวกับการทำงาน หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้ลูกน้องรู้สึกไม่สบายใจ จะเป็นคำติหรือคำชม เราก็ควรน้อมรับเอาไว้เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้นำแบบที่ลูกน้องต้องการ จะได้เกิด Trust ขึ้นภายในทีม ส่งผลให้ผู้นำและลูกน้องสามารถทำงานประสานกันได้ดีจนนำพาไปสู่ความสำเร็จ

นี่คือเทคนิคพัฒนาการสร้างความไว้ใจที่จะทำให้ผู้นำ สามารถเป็นผู้นำที่ได้ใจลูกน้องหรือที่เรียกว่า Engaging Leader และสามารถทำให้เรากลายเป็นผู้นำทีมที่สามารถบริหารงานได้ดีจนคว้าใจลูกน้อง เพื่อให้การทำงานร่วมกันจะได้เป็นไปอย่างราบรื่น
และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และแม้ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นระหว่างการทำงานบ้าง แต่ความไว้วางใจที่ผู้นำสร้างขึ้นจะเป็นกาวใจที่ยึดเหนี่ยวให้ลูกน้องพร้อมใจเดินทางก้าวไปกับผู้นำพร้อมที่จะร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้งานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะพวกเขา "เชื่อมั่นและเชื่อใจ" ในตัวผู้นำนั่นเอง 

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy