Brain friendly Leadership ทำไมผู้นำต้องเข้าใจเรื่องสมอง

Last updated: 31 Oct 2024  |  211 Views  | 

Brain friendly Leadership ทำไมผู้นำต้องเข้าใจเรื่องสมอง

ตามที่นักประสาทวิทยาหลายคนได้กล่าวไว้ว่าสมองของมนุษย์เป็นหนึ่งในโครงสร้างที่ซับซ้อนที่สุดในจักรวาลและถือเป็นอวัยวะที่ทรงพลังที่สุดในการสร้างสรรค์ที่สามารถทําให้เราเป็นวีรบุรุษผู้สร้างสรรค์สิ่งดีงามหรืออาจเป็นผู้ร้ายที่สามารถทําลายเราได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการสร้างภาวะผู้นำที่ดีโดยอ้างอิงจากการทำงานของสมองจึงเป็นการพัฒนาภาวะผู้นำตามธรรมชาติที่ตรงจุดและทำให้เราสามารถอธิบายได้ว่าในโลกแห่งการทำงานนั้นคนเรามีวิธีการคิดหรือการแสดงออกจากปัจจัยใด มีวิธีการใดบ้างที่เราสามารถปรับปรุงแก้ไขหรือสามารถป้องกันได้ผ่านเลนส์ของกลไกการทำงานของสมองที่เข้าใจง่ายและประยุกต์ใช้ได้จริงค่ะ  วันนี้ทีม Plusitives จึงอยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักว่า "Neuroleadership" หรือ “Brain Friendly Leadership” คืออะไร? สิ่งนี้จะมาช่วยเราขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างไร? มาร่วมติดตามและเตรียมตัวสู่การมี “ภาวะผู้นำที่เป็นมิตรต่อสมอง” พร้อม ๆ กันได้ในบทความวันนี้ค่ะ

ภาวะผู้นำที่เป็นมิตรกับสมอง (Brain Friendly Leadership) คืออะไร? เหตุใดจึงมีความสำคัญ?

ภาวะผู้นําที่เป็นมิตรกับสมอง (Brain Friendly Leadership) คือ การตระหนักว่าสมองทํางานอย่างไรและนำมาผสานประยุกต์ใช้ความรู้นี้เพื่อนําตนเองและผู้อื่นอย่างเหมาะสมที่สุด ดังนั้น การทำความเข้าใจธรรมชาติของสมองมนุษย์ก็คือการเข้าใจพื้นฐานของวิธีการที่คนเราคิด วิธีการที่เราแสดงความรู้สึก รวมถึงวิธีที่เราแสดงออกผ่านการกระทำ หรือเรียกได้ว่าการทำความเข้าใจการทำงานของสมองก็เปรียบเสมือนการทำความเข้าใจคนที่ง่าย ตรงจุด และประหยัดเวลาและทรงพลังมากที่สุดนั่นเอง ในโลกของการทำงาน เมื่อเราเข้าใจหลักการทำงานของสมอง นอกจากตัวเราจะสามารถทำงานได้อย่างลื่นไหลมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และทำงานได้อย่างมีความสุขแล้ว ในแง่ของการเป็นผู้นำ การทำความเข้าใจหลักการทำงานของสมองก็เปรียบเสมือนการทำความเข้าใจคนในองค์กรในเชิงลึกมากขึ้น รวมถึงเป็นการทำความเข้าใจว่าสิ่งใดที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังความคิด ความรู้สึก และการกระทำของทั้งตัวผู้นำและคนในทีม ซึ่งจะทำให้ผู้นำสามารถสร้างพื้นที่การทำงานที่ปลอดภัยทางใจ (Psychological Safety) ให้กับทุกคนในทีมหรือองค์กรได้ รวมไปถึงส่งเสริมการทำงานแบบร่วมมือ (Colloboration) ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) การสื่อสารเชิงบวกที่สร้างสรรค์ (Positive Communication) สร้างแรงจูงใจ ลดความขุ่นข้องหมองใจที่อาจะเกิดขึ้น สิ่งนี้ย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิต (Mental Health) ที่ดีขึ้นของคนในองค์กร รวมไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานและผลประกอบการขององค์กรอย่างแน่นอนค่ะ               

Facts น่ารู้เกี่ยวกับสมองที่ผู้นำควรทำความเข้าใจ

  • สมองของเรามักมองว่าการทำงานเป็นเสมือนกลุ่มสังคม
สมองของมนุษย์เป็นอวัยวะทางสังคม หากคนที่รู้สึกว่าไม่มีใครเห็นคุณค่า ไม่ถูกให้เกียรติ หรือไม่ถูกยอมรับ เช่น เมื่อพวกเขาถูกตำหนิหรือปล่อยให้กลายเป็น “คนนอกวง”  (Outer Group) สมองจะมองว่าสิ่งนี้คือ “ภัยคุกคาม” และจะสั่งการให้เราเกิดการระแวดระวังขึ้นทันที ดังนั้นพวกเขาจึงจะรู้สึกขาดความมุ่งมั่น (Commitment) และลดการมีส่วนร่วม (Engagement) ขาดแรงจูงใจ ไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับทีมและองค์กร เพราะพวกเรารู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งในองค์กรและไม่มีความสุขในการทำงานค่ะ ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจธรรมชาติการทำงานของสมองในข้อนี้แล้ว ผู้นำสามารถสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีมได้ง่าย ๆ รวมไปถึงการผู้นำจะได้พัฒนาตนเองสู่การมีภาวะผู้นำแบบ Inclusive Leadership ผู้ซึ่งพร้อมในการ "หลอมรวมใจ และผสานให้ทีมเป็นหนึ่งเดียว" ได้ เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยทางใจ (Psychological Safety) มากพอให้คนในองค์กรหรือในทีมรู้สึกถึงการได้รับการสนับสนุนและให้พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ได้โดยไม่ต้องกลัวการตอบรับเชิงลบ ทำให้พวกเขาสามารถยอมรับความผิดพลาด กล้าที่จะอ่อนแอและกล้าพูดความจริงต่อผู้มีอำนาจตรง ๆ เพื่อพัฒนาและปรังปรุงงานให้ก้าวหน้า ลกความขัดแย้ง และปิดรอยรั่วเดิมเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้นได้ค่ะ

  • สมองของเรามักโฟกัสที่ “ภัยคุกคาม (Treat)” หรือ “รางวัล (Reward)”
โดยธรรมชาติแล้ว สมองของเราจะสแกนสภาพแวดล้อมเพื่อหาอันตรายอย่างภัยคุกคามหรือรางวัลโดยเฉลี่ยห้าครั้งต่อวินาที ความเข้าใจนี้มาจากงานของนักประสาทวิทยา Dr. Evian Gordon ซึ่งพบว่าหลักการจัดระบบสมองคือการลดอันตรายให้เหลือน้อยที่สุดและมองหารางวัลให้มากที่สุด ซึ่งหลักการนี้คล้ายกับแนวคิดของการตอบสนองโดยอาศัยวิธีการหลีกเลี่ยงโดยธรรมชาติของสมอง ที่กล่าวว่า สมองของเราจะมองเห็นสิ่งเร้าโดยสัญชาตญาณว่า 'สิ่งนี้ดี' (รับเอาไว้) หรือ 'สิ่งนี้ไม่ดี' (ต้องหลีกเลี่ยง) แล้วตอบสนองตามนั้นค่ะ และนี่ก็เป็นการตอบสนองดั้งเดิมที่สะสมอยู่ในสมองของคุณตั้งแต่แรกเกิดเพื่อความอยู่รอดมานานหลายล้านปี จากงานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าสมองของเราตอบสนองในลักษณะเดียวกันในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอีกด้วยค่ะ เมื่อเรามักชื่นชอบเวลามองเห็นรางวัลและมักหลีกเลี่ยงหรือระแวดระวังสิ่งที่เรามองว่าเป็นภัยคุกคามค่ะ เพราะการตอบสนองต่อภัยคุกคามนั้น ร่างกายจะปล่อยคอร์ติซอล (cortisol) และฮอร์โมนอื่น ๆ ทำให้เราเกิดความเครียด กังวล และระวังตัว แต่เมื่อสมองของเรารับรู้ถึงรางวัล สมองจะตอบสนองในทางตรงกันข้ามและปล่อยสารสื่อประสาทที่นำไปสู่ความรู้สึกพึงพอใจ ความสุข และแรงจูงใจนั่นเองค่ะ

  • สมองที่ถูกคุกคามไม่ใช่สมองที่มีประสิทธิผล
การตอบสนองต่อภัยคุกคามเป็นอันตรายต่อประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลหรือองค์กรค่ะ เพราะสิ่งนี้บั่นทอนการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytic thinking) ความเข้าใจเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) และการแก้ปัญหา (Problem Sloving) หรือพูดง่าย ๆ ว่า ความสามารถ ความคิดและจิตใจของผู้คนจะอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมทำงานเมื่อพวกเขารู้สึกว่าถูกคุกคาม ส่งผลให้สมองของพนักงานจะมีประสิทธิภาพน้อยลง แต่ในทางกลับกัน หากเมื่อผู้นำทำให้ผู้คนรู้สึกดีกับตัวเอง สื่อสารความคาดหวังของพวกเขาอย่างชัดเจน ให้พนักงานมีอิสระในการตัดสินใจ สนับสนุนความพยายามของผู้คนในการทำงานและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างยุติธรรม ก็เปรียบเสมือนการให้รางวัลค่ะ ในเมื่อสมองของเราชอบรางวัลอยู่แล้ว แน่นอนว่าผู้คนก็ มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เปิดกว้างต่อแนวคิดมากขึ้น และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น พวกเขาจะอ่อนแอต่อภาวะเหนื่อยหน่ายน้อยลงเนื่องจากรู้สึกเครียดน้อยลงและได้รับแรงจูงใจมากขึ้นนั่นเองค่ะ

ทำความเข้าใจสิ่งที่สมองเรียกว่า “ภัยคุกคาม” เพื่อ Boost การทำงานของคนในองค์กร

เมื่อเป็นผู้นำ คุณจำเป็นต้องตั้งเป้าที่จะลดภัยคุกคามต่อสมองของคนในทีมหรือองค์กรให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการทำความเข้าใจสิ่งที่สมองมองว่าภัยคุกคามค่ะ วันนี้ทีม Plusitives จะพามาดู 4Cs ที่สมองของเรามองว่าเป็นภัยคุกคาม เพื่อยับยั้งไม่ให้มันเกิดขึ้นในทีมและองค์กรของเรากันนะคะ

4Cs ที่หากขาดหายไปจะทำให้สมองเกิดการตีความว่าเป็น “ภัยคุกคาม”

1. Control (การควบคุม)

การขาดการควบคุม ทุกๆคนต่างล้วนต้องการควบคุมสถานการณ์ที่เราพบเจอกันอยู่ทั้งนั้น และมีคนน้อยมากค่ะที่จะชอบเวลาถูกสั่งให้ต้องทำอะไรสักอย่าง หากผู้นำในองค์กรมีลักษณะการทำงานแบบ “ออกคำสั่งและควบคุมการทำงาน” สมองจะมองตัวเองอาจขาดโอกาสในการคิด ตัดสินใจ และควบคุมในสถานการณ์นั้น ซึ่งสมองจะถือว่านี้คือภัยคุกคามนั่นเองค่ะ ดังนั้น ผู้นำควรปรับเปลี่ยนเป็นการสร้างแรงจูงใจ ระดมสมอง การส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันหรือแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ ภายใต้เป้าหมายของส่วนรวม สิ่งนี้จะทำให้พนักงานไม่รู้สึกถึงการควบคุมและลดการตอบสนองต่อภัยคุกคามนั่นเองค่ะ

2. Consistency (ความสม่ำเสมอ)

จากมุมมองของการเอาชีวิตรอด หากมีบางอย่างผิดปกติหรือไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ สมองก็จะระมัดระวังอยู่เสมอว่าสิ่งนั้นเป็นภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น สมองมีความสามารถในการ  ตรวจจับข้อผิดพลาด ข้อความที่ขัดแย้งกัน หรือคำพูดกับการกระทำไม่สอดคล้องกัน” ดังนั้นความไม่สม่ำเสมอ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือพฤติกรรมที่เข้าข่าย “สามวันดีสี่วันไข้” จะส่งผลให้สมองรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามนั่นเอง ในฐานะผู้นำแล้วจึงเป็นการดีที่สุดที่จะมีความสม่ำเสมอและชัดเจนเกี่ยวกับการสื่อสารและการแสดงออกทางพฤติกรรมนั่นเองค่ะ

3. Competence (ความสามารถ)

สำหรับพวกเราส่วนใหญ่แล้วมักมีความรู้สึกเชิงลบที่มาพร้อมกับคำติชม (Feedback) เพราะเป็นเรื่องปกติเพราะสมองที่จะคิดลบเก่งกว่าคิดบวกเกี่ยวกับความสามารถของเราค่ะ เป้าหมายในการลดสิ่งนี้ก็คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางใจ (Psychological Safety) ที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้และการเติบโตพร้อมยอมรับข้อผิดพลาด ไม่ลงโทษเมื่อเจอข้อผิดพลาดหรือความล้มเหลว และถือให้มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้พร้อมแก้ไขป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในครั้งต่อไปนั่นเองค่ะ

4. Connectedness  (ความเชื่อมโยง)

มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม สิ่งนี้ถือเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของคนเรา ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การที่เรามีกลุ่มก้อนตั้งแต่ในระดับการศึกษา การทำงานในองค์กรในรูปแบบของทีม และแม้แต่การทำงานระหว่างสายงานหรือแผนกต่าง ๆ เราทุกคนต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนเหล่านั้น เพราะเราต้องการมี Sense Of Belonging ดังนั้นสมองของเราจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อค้นหาการเชื่อมต่อกับกลุ่มหรือบุคคล หากไม่มีสิ่งนี้เราก็จะรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกคุกคาม ดังนั้นผู้นำที่ดีจึงควรพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leadership) เพื่อทำให้ทุกคนไม่รู้สึกว่าโดนแบ่งแยกและเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันค่ะ

โดยสรุปแล้ว ผู้นำที่เป็นมิตรต่อสมอง (Brain-friendly leadership) จะสามารถเป็นผู้นำที่สามารถบริหารจัดการในลักษณะที่ช่วยให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ  โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสมองเพื่อให้สามารถจัดการกับความกดดันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรักษาประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น สิ่งนี้ต้องอาศัยความเข้าใจในสิ่งที่สมองมองว่าเป็นภัยคุกคามหรือเป็นรางวัล และจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่สมองของผู้คนรู้สึกว่าได้รับรางวัล ปลอดภัย และมีแรงบันดาลใจเพื่อสนับสนุนการเติบโตและสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจในตัวของผู้นำเองและพนักงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรนั่นเองค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

https://www.aboutmybrain.com/blog/what-is-brain-friendly-leadership

https://omozua.com/5584/how-to-be-a-brain-friendly-leader/

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy