Growth Mindset: The Path to Innovation จุดเริ่มต้นของการคิดเชิงนวัตกรรม

Last updated: 3 Dec 2024  |  47 Views  | 

Growth Mindset: The Path to Innovation จุดเริ่มต้นของการคิดเชิงนวัตกรรม

การสร้างนวัตกรรมใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้หากคุณยังติดอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าลอง ไม่กล้าล้มเหลว โดยทั่วไปแล้วคนที่ไม่บรรลุเป้าหมายหรือขาดการจัดลำดับความสำคัญที่ถูกต้องนั้นอาจไม่ได้สะท้อนถึงความพยายามหรือทักษะของพวกเขา แต่มันอาจเกิดจากการขาดกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ค่ะ ด้วยกรอบความคิดแบบเติบโตนี้ จะช่วยให้คุณสามารถก้าวไปสู่จุดสูงสุดใหม่ได้อย่างมั่นคงในเส้นทางอาชีพของคุณให้กล้าเสี่ยง กล้าลอง พร้อมรับความล้มเหลวเพื่อนำมาประบปรุงพัฒนา และส่งเสริมให้ตนเองเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learner) เพียงแค่ปรับวิธีคิดและวิธีดำเนินชีวิตนั่นเองค่ะ วันนี้ทีม Plusitives จะพาทุกท่านเตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความคิดการเติบโต (Growth Mindset) อันทรงพลังว่าสิ่งนี้มันคืออะไร ทำไมเราต้องใช้มันเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและความเป็นผู้นำ รวมไปถึงองค์กรชั้นนำใดบ้างที่ปรับใช้แนวคิดนี้ในการดำเนินค่ะ

Growth Mindset คืออะไร?
“กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)” ริเริ่มโดยศาสตราจารย์ Carol Dweck ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เธอใช้เวลาในการศึกษาว่าผู้คนตอบสนองต่อความท้าทายที่พวกเขาเผชิญอย่างไร และได้ค้นพบว่าผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมักมองว่าความฉลาด ความสามารถ และพรสวรรค์เป็นสิ่งที่เรียนรู้และสามารถพัฒนาต่อได้ด้วยความพยายาม รวมถึงผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมีแนวโน้มที่จะกล้าเสี่ยง สามารถประยุกต์ใช้ทักษะของตนเพื่อเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม แต่ในทางกลับกันผู้ที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) มักเชื่อว่าความสามารถของพวกเขาตายตัว ไม่สามารถพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงต่อไปได้ตามกาลเวลานั่นเองค่ะ

เหตุใด Growth Mindset จึงสำคัญในโลกธุรกิจ?
Growth Mindset เป็นกรอบแนวคิดที่หลายองค์กรในโลกธุรกิจให้ความสนใจในการนำมาให้พัฒนาคนในองค์กรเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จและนวัตกรรม แต่เพราะเหตุใดที่ทำให้ Skill นี้เป็นที่สนใจกันแน่ วันนี้ทีม Plusitives จึงนำ 5 ประโยชน์จากปรับใช้ Growth Mindset ในองค์กรมาฝากทุกท่านค่ะ


1. เพิ่มความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญกับความล้มเหลว
เมื่อคนในองค์กรมีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เขาก็จะมีแนวโน้มที่จะมีความพยายามและหมั่นปรับปรุงพัฒนาต่อไปแม้ว่าสิ่งต่าง ๆ จะผิดพลาดหรือล้มเหลวก็ตาม ในทางกลับกันผู้ที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) ก็จะมีความเสี่ยงที่จะตกหลุมพรางของความคิดที่ว่า “เปลี่ยนแปลงไปก็ไม่มีประโยชน์” “ทำไปทำไม สุดท้ายผลก็เป็นแบบเดิม” พวกเขาจึงไม่มีความพยายามในการปรับปรุงและมีโอกาสประสบความสำเร็จน้อยกว่านั่นเองค่ะ นอกจากนี้กรอบความคิดแบบเติบโตยังช่วยให้คนในทีมมีสมาธิและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาชนะความยากลำบากและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจนั่นเอง

2. เพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
คนในองค์กรที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตอาจรู้สึกตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง โดยพวกเขามักมองว่าเป็นโอกาสในการเติบโตหรือปรับปรุงคุณภาพงานให้ดีกว่าเดิม แนวคิดนี้เป็นประโยชน์ในธุรกิจสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้กรอบความคิดแบบเติบโตเป็นคุณลักษณะที่มีประโยชน์สำหรับทุกคนที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความกระตือรือร้นอยู่อย่างสม่ำเสมอค่ะ

3. เต็มใจที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ
คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมักจะเปิดกว้างต่อการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และพิจารณาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงาน ไม่ค่อยกลัวที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ และสามารถช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าหรือนำหน้าคู่แข่งได้ จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าคนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับกรอบความคิดแบบเติบโตนั้น 47% มีแนวโน้มที่จะบอกว่าเพื่อนร่วมงานของพวกเขาน่าเชื่อถือ 65% มีแนวโน้มที่จะบอกว่าบริษัทสนับสนุนการกล้าเสี่ยง และ 49% มีแนวโน้มที่จะบอกว่าบริษัทส่งเสริมนวัตกรรม โดยสรุปแล้ว คนในองค์กรที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมีแนวโน้มร่วมมือกับผู้อื่นได้ดีขึ้น คิดสร้างสรรค์อันนำไปสู่ความคิดเชิงนวัตกรรม และตะหนักถึงความสำคัญกับการทำงานในบริษัทที่ส่งเสริมกรอบความคิดการเติบโตค่ะ

4. มีทัศนคติเชิงบวกเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
แม้แต่คนในองค์กรที่ทำงานมานานและมีทักษะสูงก็ยังสามารถทำผิดพลาดได้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของของเราก็อาจส่งผลให้การทำงานหยุดชะงักและอาจทำให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ต่อโปรเจ็กได้ แต่ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะไม่กลัวต่อความล้มเหลวแต่กลับพร้อมเต็มใจที่จะปรับตัว พร้อมเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด และมองว่าความล้มเหลวเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาให้ดีกว่าเดิมอีกครั้งค่ะ ดังนั้นเมื่อผู้นำมีกรอบความคิดแบบเติบโต ทัศนคติเชิงบวกนี้สามารถส่งต่อไปยังคนในทีมคนอื่นได้ สิ่งนี้จะส่งผลให้พวกเขากลัวความล้มเหลวน้อยลงซึ่งจะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานเชิงบวกที่ปลอดภัยทางด้านจิตใจ (Psychological Safety) มากขึ้นได้ค่ะ

5. การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมักจะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อมุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะของตน ซึ่งแนวคิดเรื่องความยืดหยุ่นของระบบประสาท (Neuroplasticity) ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักวิทยาศาสตร์หลายคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังเชื่อว่าสมองสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างตัวเองอยู่ตลอดเวลาและเป็นไปได้ที่สมองจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ค่ะ คุณ Norman Doidge ผู้ซึ่งเผยแพร่แนวคิดเรื่องความยืดหยุ่นของระบบประสาท ได้บันทึกตัวอย่างมากมายของผู้คนที่พยายามเอาชนะอุปสรรคและสามารถทำมันได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะสมองของเราเรียนรู้และยืดหยุ่นได้ เช่น การฝึกตัวเองให้เดินอีกครั้งหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือการบรรเทาอาการของโรคพาร์กินสันในวัยชรา ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบากด้วยการมองโลกในแง่ดีและเชื่อว่าพวกเขาสามารถประสบความสำเร็จได้ พวกเขาไม่คิดว่าพวกเขา “แก่เกินไป” ที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่นั่นเองค่ะ

โดยสรุปแล้ว หากองค์กรต้องการส่งเสริมกรอบความคิดแบบเติบโตจะต้องสื่อสารอย่างชัดเจนกับคนในองค์กรเพื่อให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนให้กล้าเสี่ยง กล้าลองสิ่งใหม่ ๆ และอาจล้มเหลวได้โดยไม่ถูกตำหนิ ตามรายงานแนวคิดของสถาบัน NeuroLeadership เรื่อง "Growth Mindset Culture" การสนับสนุนจากผู้นำระดับสูงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จในองค์กร ซึ่ง 69% ขององค์กร จะใช้ผู้นำระดับสูงในการสื่อสาร การสอน และการเป็นแบบอย่างในกรอบความคิดการเติบโตทั่วทั้งบริษัทค่ะ

ตัวอย่างการสร้างนวัตกรรมที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนทัศนคติ
มีเหตุผลมากมายว่าทำไมกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset) จึงมีความสำคัญต่อธุรกิจ อีกทั้งยังมีองค์กรชั้นนำที่โดดเด่นหลายองค์กรที่นำกรอบความคิดแบบเติบโตมาในการทำงานและเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมขจัดกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) ที่ขัดขวางการเติบโตและหยุดยั้งนวัตกรรมไม่ให้เจริญรุ่งเรือง อันเป็นปัญหาสำคัญสำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่และก้าวนำหน้าคู่แข่ง วันนี้ทีม Plusitives จะพามาดูค่ะว่ามีองค์กรไหนบ้างที่สามารถสร้างนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ได้เพียงแค่เปลี่ยนทัศนคติ

1. Microsoft
Microsoft เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่เปลี่ยนจากกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) ไปสู่กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ปัจจุบัน Microsoft เป็นผู้นำที่น่าชื่นชมไม่เพียงแต่ในอุตสาหกรรมของตนเองเท่านั้นแต่ยังเป็นองค์กรที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างแท้จริงในระดับโลกอีกด้วย จากการพัฒนาหลักการความเป็นผู้นำของ Microsoft ด้วยความตั้งใจที่จะให้ทุกคนในองค์กร ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงพนักงานใหม่มีส่วนร่วมในการสร้างนิสัยปรับกระบวนการทำงาน และสร้างสภาพแวดล้อมของกรอบความคิดการเติบโตให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรในชีวิตการทำงาน คุณ Satya Nadella ผู้เป็น CEO ของ Microsoft จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์องค์กร โดยเปลี่ยนจาก “Know it all” สู่ “Learn it all” และยังเปิดโอกาสให้คนในองค์กรก้าวออกจาก Comfort Zone ส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อความอยากรู้อยากเห็น และคิดหาวิธีใหม่ ๆ ในการพัฒนาพนักงานและทีม รวมถึงส่งเสริมให้ใช้เวลาหยุดในแต่ละไตรมาสเพื่อมุ่งเน้นไปที่แนวคิดที่เป็นนวัตกรรมที่แปลกใหม่ที่ก่อนหน้านี้อาจล้มเหลวนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น พร้อมให้คนในองค์กรตระหนักว่าความล้มเหลวจะเกิดขึ้นระหว่างทาง ได้ แต่จงอย่ากลัวความล้มเหลวนั้น เพราะการวิเคราะห์ความล้มเหลวต่างหากที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จ การเรียนรู้จากความล้มเหลวและการประยุกต์ใช้การเรียนรู้เหล่านั้นกับโครงการในอนาคตเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จขององค์กร สำหรับ CEO Nadella นั้น การเอาใจใส่และ ความเห็นอกเห็นใจก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมกรอบความคิดแบบเติบโตและเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ รวมทั้งนวัตกรรมจะสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้คนชื่นชมมุมมองและแนวคิดของกันและกัน รวมไปถึงการตั้งคำถามด้วยความเคารพ และการใช้ความเห็นอกเห็นใจเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมนั่นเองค่ะ

2. Apple
ในบันทึกประวัติศาสตร์ธุรกิจ Steve Jobs ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ กว้างไกลผนวกด้วยความสามารถของเขาในการเปิดรับกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน Apple จากการจวนเจียนจะล่มสลายไปสู่ความยิ่งใหญ่ทางเทคโนโลยีระดับโลกในเวลาไม่กี่ปี วันนี้เรามาเจาะลึกถึงวิธีที่ Jobs ประยุกต์ใช้พลังของกรอบความคิดแบบเติบโตเพื่อกำหนดแนวทางของ Apple กันค่ะ
ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า "Innovation distinguishes between a leader and a follower" ดังนั้น การกลับมาที่ Apple ของเขาในปี 1997 จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนค่ะ แนวทางที่มุ่งเน้นการเติบโตของเขาผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์เช่น iMac, iPod, iPhone และ iPad พลิกโฉมอุตสาหกรรมและเข้าถึงจินตนาการของผู้บริโภค ซึ่งการเปิดตัว iPhone ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงแนวคิดการเติบโตของจ็อบส์ในทางปฏิบัติเลยทีเดียว โดยคำพูดของเขาที่ว่า "ผู้คนจะไม่รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรจนกว่าคุณจะแสดงให้พวกเขาเห็น" เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความเต็มใจของเขาที่จะท้าทายสิ่งเดิม ๆ และพิสูจน์ให้เห็นจากความสำเร็จอันน่าทึ่งของ iPhone ด้วยยอดขายมากกว่า 2.2 พันล้านเครื่องทั่วโลก ตอกย้ำถึงความสามารถของเขาในการมองเห็นความเป็นไปได้ที่เหนือขอบเขตสิ่งที่เคยมีอยู่ค่ะ
นอกจากนี้ กรอบความคิดในการเติบโตของจ็อบส์ขยายไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพของคนในองค์กรอีกด้วย เขาส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดความไว้วางใจและความเป็นอิสระ ซึ่งช่วยให้ทีมของ Apple ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย 
อีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตของจ๊อบส์คือการเปิดตัว App Store ในปี 2551 ซึ่งเป็นการเปิดการซื้อขายแอปพลิเคชั่นที่ไม่เคยมีมาก่อน แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่
มุ่งเน้นการเติบโตของจ็อบส์ ความเชื่อมั่นของเขาที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงการพัฒนาแอป โดยสร้างตลาดมูลค่า 73 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020
จะเห็นได้ว่ากรอบความคิดในการเติบโตของจ็อบส์เป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นคืนชีพของ Apple สร้างแรงบันดาลใจให้กับนวัตกรรม ปลดล็อกการเติบโตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกด้วยค่ะ

โดยสรุปแล้ว องค์ประกอบสำคัญของกรอบความคิดแบบเติบโตคือการทำงานผ่านอุปสรรค การเห็นคุณค่าของความพยายาม การเปิดรับความท้าทาย และการเรียนรู้จากการวิจารณ์ ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจึงเป็นคนมีไหวพริบ ปรับตัวได้ มีความยืดหยุ่น และเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่าสำหรับทุกองค์กร ด้วยการให้รางวัลความพยายามและการสนับสนุนให้ผู้คนลองสิ่งใหม่ ๆ เราสามารถส่งเสริมกรอบความคิดในการเติบโตในองค์กรและได้รับประโยชน์จากทัศนคติเชิงบวก ซึ่ง Growth Mindset จะสามารถยกระดับการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพในองค์กรได้อีกระดับสู่ความสำเร็จขององค์กรและความคิดเชิงนวัตกรรมค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.cio.com/article/409178/why-having-a-growth-mindset-is-critical-for-company-success.html

https://www.personio.com/hr-lexicon/growth-mindset/

https://www.indeed.com/recruitment/c/info/5-ways-businesses-can-benefit-from-a-growth-mindset

https://www.growthmindsetatwork.com/5-secrets-to-microsofts-growth-mindset-success/

https://www.linkedin.com/pulse/steve-jobs-growth-mindset-transforming-apples-destiny-jay-georgi

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy