Last updated: 20 Dec 2024 | 742 Views |
ในโลกการทำงานที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างยุค Meta VUCA World แบบนี้ ทุกท่านคงมีโอกาสเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเรียนรู้วิธีรับมือและเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบากเหล่านั้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนเราต้องเคยผิดพลาดและล้มเหลวกันบ้าง แต่กุญแจสำคัญคือเมื่อผิดพลาดหรือล้มเหลวไปแล้ว ทำอย่างไรให้เมื่อล้มแล้วเรายังสามารถลุกขึ้นได้ไวค่ะ ดังนั้นสกิล (Skill) สุดเจ๋งที่จะทำให้เราสามารถผ่านพ้นทุกวิกฤตในโลกแห่งความผันผวน นั่นก็คือการปลูกผังความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) รวมไปถึงกลยุทธ์ในการฝึกตนเองให้เป็นคนที่ล้มไวและลุกไว เพื่อให้สามารถปรับตัวและปรับใช้ทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จลุล่วงค่ะ จะเป็นอย่างไรนั้นติดตามกันได้ในบทความวันนี้ค่ะ
ความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) คืออะไร?
ความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) คือ ความสามารถของมนุษย์ในการเผชิญกับความยากลำบาก ความพ่ายแพ้ และความบอบช้ำทางจิตใจ แล้วสามารถฟื้นตัวจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อใช้ชีวิตต่อไปและปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมได้ ผู้นำที่มีความสามารถในการฟื้นตัว (Resilient Leader) จะสามารถทำงานภายใต้แรงกดดันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวรับมือกับมันได้ ดังนั้น ความสามารถในการฟื้นตัวหรือความยืดหยุ่นนี้จึงเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำที่มีประสิทธิภาพและควรต้องปลูกฝังมันอีกด้วยค่ะ
ความยืดหยุ่นขององค์กร (Organizational Resilience) คืออะไรและสำคัญอย่างไร?
ความยืดหยุ่นขององค์กร คือ ความสามารถของบริษัทในการคาดการณ์ วางแผน และรับมือต่อความยากลำบากเมื่อเกิดขึ้น สามารถบริหารความเสี่ยงได้ดี รวมถึงปรับตัวได้ทันถ่วงที (Adaptable) มีความยืดหยุ่น (Elastic) และพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable) โดยองค์กรจะต้องปรับตัวให้คล่องตัวมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งหนึ่งในความล้มเหลวหลัก ๆ สำหรับองค์กรที่ไม่ประสบความสำเร็จก็คือระดับความเครียดในที่ทำงานที่เพิ่มขึ้นของทีมงานที่สามารถนำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงานและขวัญกำลังใจของพนักงานที่ลดลง ทำให้ความสัมพันธ์ในที่ทำงานแย่ลงไปด้วยค่ะ ดังนั้น การพัฒนาความยืดหยุ่นขององค์กรจึงถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันเมื่อเวลาผ่านไปพร้อมขับเคลื่อนสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กันค่ะ
องค์กรที่มีความยืดหยุ่นจะสามารถปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้มีกระบวนการตัดสินใจที่แม่นยำและรวดเร็วซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินงานด้วยความเป็นระบบ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความเป็นอิสระมากพอให้เกิดความสร้างสรรค์ ทั้งยังช่วยให้องค์กรจัดการและลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและจัดการผลกระทบทางอารมณ์ได้ดีขึ้น เนื่องจากการทำงานที่มีความเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียด และความเหนื่อยหน่ายในการทำงานค่ะ แต่หากมีการสนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นในองค์กรก็จะก่อให้เกิดความมั่นคงทางใจของพนักงานได้ องค์กรที่มีความยืดหยุ่นจะสามารถส่งเสริมให้พนักงานมีความสามัคคี สามารถทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและความเจริญรุ่งเรืองเพื่อให้สามารถปรับตัวและยืดหยุ่นได้มากขึ้นในระยะยาวได้นั่นเองค่ะ ดังนั้นเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรแห่งความยืดหยุ่น เราจึงควรต้องพัฒนาผู้นำและคนในทีมให้มีความยืดหยุ่นไปพร้อม ๆ กันค่ะ
5 กุญแจสำคัญสู่การเป็นผู้นำที่ยืดหยุ่น (5 Key Elements of a Resilient Leader)
“ไม่สำคัญว่าคุณล้มกี่ครั้ง แต่สำคัญที่ว่าคุณลุกขึ้นมาได้กี่ครั้งต่างหาก” คำพูดนี้สะท้อนถึงแก่นแท้ของความยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี แต่จากการสำรวจพบว่า ชาวอเมริกัน 83% เชื่อว่าพวกเขามีความยืดหยุ่น แต่มีเพียง 57% เท่านั้นที่เป็นเช่นนั้นค่ะ ดังนั้นหากต้องการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพแล้ว ความยืดหยุ่น (Resilience) จึงได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นผู้นำในปัจจุบันเป็นอย่างมากค่ะ ดังนั้นลองมาดูว่า 5 กุญแจสู่การเป็นผู้นำที่ยืดหยุ่นมีอะไรกันบ้างค่ะ
1. ความฉลาดทางอารมณ์และการเอาใจใส่ความรู้สึกผู้อื่น (Emotional Intelligence and Empathy)
ตามธรรมชาติดูเหมือนสมองของเราจะคิดลบมากกว่าคิดบวก แต่ผู้นำที่มีความยืดหยุ่นจะมีการตระหนักรู้ในตนเองและการตระหนักว่าอารมณ์ของเราทำงานอย่างไรหรือเรียกว่ามีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ที่ดีนั่นเองค่ะ เราทุกคนต่างรู้ดีว่าปฏิกิริยาที่มาจากอารมณ์เชิงลบสามารถเป็นจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์ที่ดีได้ บ่อยครั้งปฏิกิริยาเหล่านี้เป็นผลมาจากความเครียดและความกดดันสูง โดยเฉพาะในที่ทำงาน สิ่งที่น่าสนใจคือ 32% ของประชากรที่ทำงานในสหราชอาณาจักรมีความสามารถในการฟื้นตัวต่อความเครียดในระดับต่ำ ดังนั้น ความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยให้เราควบคุมอารมณ์และแสดงออกโดยการอ้างอิงจากตรรกะและเหตุผลมากกว่าการใช้อารมณ์ นอกจากนี้ผู้นำที่มีความยืดหยุ่นมักจะมีความเห็นอกเห็นใจ โดยพวกเขาจะมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคนในทีมได้เป็นอย่างดี มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบาก สามารถช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจในสถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้ การกระทำเหล่านี้สามารถทำให้คนในทีมเกิดความปลอดภัยทางด้านจิตใจ (Psychological Safety) ได้นั่นเองค่ะ ดังนั้นความยืดหยุ่นทางอารมณ์จึงเป็นการพัฒนาที่สำคัญสำหรับผู้นำที่ต้องการเป็นผู้นำแบบ Resilient leader ที่เริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้ในตนเองและการทำความเข้าใจว่าตัวเรามีการตอบสนองอย่างไร รวมไปถึงการตระหนักรู้ถึงแนวโน้มทางอารมณ์ของพนักงานของคุณ และมีความเห็นอกเห็นใจนั่นเองค่ะ
2. การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continual Development)
ความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) ไม่ได้เป็นเพียงสวิตช์ที่เราสามารถเปิดได้ง่ายเพราะมันไม่ได้อยู่ใน DNA ของเรา แต่มันต้องใช้ความพยายามและความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติค่ะ ซึ่งนั่นหมายความว่าเราต้องบังคับตัวเองให้ออกจาก Comfort Zone นั่นเอง ในการเป็นผู้นำที่มีความยืดหยุ่นนั้น เราต้องพร้อมยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สัญญาณที่ชัดเจนของการเป็นผู้นำที่มีความยืดหยุ่นคือการเรียนรู้เพื่อหาวิธีที่เราจะสามารถจัดการความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ท้าทาย รวมไปถึงมีความพร้อมและความเต็มใจที่จะเติบโตผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฟัง Podcast การอ่านหนังสือ หรือการเข้าร่วมหลักสูตรพัฒนาตนเอง การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและเปิดโลกของคุณให้กว้างขึ้นในฐานะผู้นำค่ะ
3. ความแน่วแน่ (Decisive Driven Intentions)
แม้ว่าความยืดหยุ่นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการปรับตัวและพัฒนาความเข้าใจทางอารมณ์ของเรา แต่ความซื่อสัตย์และแน่วแน่ของเราในทุกสถานการณ์ก็มีความจำเป็นเช่นกันค่ะ เมื่อเราตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในฐานะผู้นำ เราอาจเผชิญกับคำวิจารณ์ ความข้องใจ และการคัดค้านจากสมาชิกในทีม แต่การยึดมั่นในหลักการของเราอย่างแท้จริงและการไม่โอนเอียงไปทางสิ่งที่เราไม่เชื่อนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาความยืดหยุ่นของเราอย่างมีนัยยะสำคัญค่ะ แม้ว่าเราจะมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง แต่เราก็ต้องยึดมั่นในหลักการของเราด้วย การเป็นผู้นำด้วยความแน่วแน่นั้น ไม่ได้หมายความว่าเรามองข้ามความคิดเห็นผู้อื่น แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนตามวัตถุประสงค์ว่างานที่ทำอยู่คืออะไร เพื่อมอบหมายงานให้ทีมของคุณบรรลุเป้าหมาย การสร้างแรงจูงใจให้กับทีมเพื่อส่งเสริมความพึงพอใจและความสุขในการทำงาน เพราะเมื่อทีมงานความรู้สึกถึงจุดมุ่งหมายที่แน่ชัดจะส่งเสริมให้คนในทีมรู้สึกมีพลังในการทำให้งานประสบความสำเร็จค่ะ
4. รักษาความสัมพันธ์ (Nurture Relationships)
หลายคนเชื่อกันว่าผู้นำที่มีความยืดหยุ่นต้องมีความมั่นใจในตัวเองและมีความซื่อสัตย์เสมอ โดยอาจไม่ฟังคำแนะนำจากใครอื่น แต่นั่นไม่เป็นความจริงค่ะ เพียงเพราะคุณเป็นผู้นำไม่ได้หมายความว่าคุณควรรู้สึกโดดเดี่ยวนะคะ ไม่มีผู้นำที่ประสบความสำเร็จคนใดที่ไร้ซึ่งคำแนะนำ การสนับสนุน และความรู้ที่ได้รับจากผู้อื่นค่ะ ดังนั้นการพึ่งพาเพื่อนหรือคนรอบตัวที่เชื่อถือได้ เพื่อนร่วมงาน หรือเครือข่ายวิชาชีพที่กว้างขึ้นจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลมากขึ้นโดยสามารถแบ่งปันปัญหา ข้อสงสัย และข้อกังวลของคุณเพื่อเป็นผู้นำที่มี ความสามารถ รอบรู้ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีความกล้าแสดงออกโดยรวมมากขึ้นค่ะ
5. สื่อสารด้วยความเชื่อมั่น (Communicate With Conviction)
องค์ประกอบผู้นำที่มีความยืดหยุ่นอย่างสุดท้ายคือความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ จากผลสำรวจของ Interact/Harris พบว่า 91% ของพนักงาน 1,000 คนเชื่อว่าผู้นำของพวกเขาขาดทักษะในการสื่อสารที่ดีค่ะ ดังนั้นสำหรับผู้นำที่มีความยืดหยุ่นแล้ว การสื่อสารที่ดีควรควบคู่ไปกับความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม และความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ค่ะ เพราะการสื่อสารที่แน่วแน่เด็ดขาดจนดูเหมือนตึงเกินไปอาจแสดงถึงการขาดความเคารพ รวมถึงอาจทำลายความสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นผู้นำที่มีความยืดหยุ่นจะสามารถตระหนักรู้ในตนเองในเชิงลึกและมีความฉลาดทางสังคมที่ทำให้พวกเขารับรู้ความต้องการของผู้อื่น ใส่ใจเปิดรับความคิดและรับรู้สัมผัสถึงอารมณ์ของอีกฝ่ายด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การฟังเชิงรุก (Active Listening) และการตั้งคำถามทรงพลัง (Powerful Question) ก่อนที่จะใช้ทักษะเหล่านี้เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม (Team Engagement) และเพิ่มขีดความสามารถ (Performance) นั่นเองค่ะ
โดยสรุปแล้ว การทำให้องค์กรของเราให้เป็นองค์กรแห่งความยืดหยุ่น สิ่งสำคัญที่ควรเริ่ม คือการพัฒนาผู้นำที่มีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงผันผวนไปในแต่ละวันและเตรียมพร้อมพวกเขาต่อความท้าทายทุกรูปแบบ ให้พวกเขากล้าที่จะลองเสี่ยง และยอมรับความล้มเหลวแล้วลุกขึ้นสู้ต่อให้ไวด้วยสกิลการฟื้นตัว (Resilience) ควบคู่ไปกับการปลูกฝังกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ที่พร้อมต่อการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดด้วยความแน่วแน่และไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ เต็มไปด้วยความฉลาดทางอารมณ์ การเอาใส่ใจ การสื่อสารเชิงบวก เพื่อรักษาความสัมพันธ์ในทีม และพร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จและเข้าสู่วัฒนธรรมองค์กรแบบยืดหยุ่นนั่นเองค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.questionpro.com/blog/organizational-resilience/
https://www.thnk.org/blog/resilient-leadership
https://www.linkedin.com/pulse/5-key-elements-resilient-leader-tony-nutley
https://economictimes.indiatimes.com/jobs/c-suite/resilience-in-leadership-bouncing-back-from-challenges/articleshow/104706798.cms?utm_source=contentofinterest&utm_medium=text&utm_campaign=cppst