Last updated: 21 Jun 2022 | 2370 Views |
ในช่วงเวลาที่ท้าทายแบบนี้ เราทุกคนไม่ว่าจะทำงานสายไหน หรือมีอาชีพ ทำงานในตำแหน่งอะไร หันไปทางไหนก็คงหนีไม่พ้นกับคำว่า “การเปลี่ยนแปลง” คำว่าความเปลี่ยนแปลงดูเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราเกือบทุกคนจะต้องเผชิญและปรับตัวให้ได้ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาท่าไหน เราก็ต้องยืดหยุ่นและรับมือกับมันให้ดีที่สุด (Adapt To Change) แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่ปราณีพวกเราง่ายๆ และจะมีความรุนแรงขึ้นในอนาคต แถมยังจะมาซ้ำ มากันถี่ขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยก่อน และมาแต่ละครั้ง บางคนก็แทบตั้งตัวไม่ติดกันเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่กระแสในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ดูเป็นสิ่งที่พูดกันบ่อยขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่มันก็เป็นเรื่องง่ายที่จะพูดถึง
“การเปลี่ยนแปลง” ด้วยคำพูดเก๋ๆ แต่เวลาทำจริงกลับไม่ง่ายขนาดนั้น แถมในมุมมองของสมองซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญในการสั่งงาน เปรียบเสมือน CPU ของร่างกายเราและดูจะเป็นที่พึ่งอันสำคัญเวลาการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายถาโถมก็ดูเหมือนจะมีเหตุผลตามธรรมชาติบางอย่างที่ทำให้ส่วนหนึ่งสมองของเราไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลงเอาเสียเลย
เราลองคิดดูกันเล่นๆ นะคะ ถ้าสมองของเราพูดได้ แล้ววันดีคืนดีเราลองไปถามสมองอันชาญฉลาดของเราจริง ๆ ว่าทำไม สมองของเราถึงไม่ค่อยชอบความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่นัก เชื่อว่าคงมีหลายเหตุผลที่สมองจะหยิบยกขึ้นมาตอบเราว่าทำไม และเหตุผลตัวอย่างเหล่านี้ก็พอจะอธิบายได้ดีค่ะว่าเหตุผลเป็นเพราะอะไร
1.) การเปลี่ยนแปลงใช้พลังงานทางด้านความคิด เยอะกว่าการทำอะไรเหมือนเดิมค่ะ สมองของเรามีความเก่งกาจในด้านการประหยัดพลังงาน เพราะสมองจำเป็นต้อง RESERVE พลังงานของตัวเองไปใช้ในเรื่องที่มีความจำเป็น เช่นการตัดสินใจ หรือการแก้ไขปัญหาเรื่องที่สำคัญๆ ดังนั้นการที่เราทำอะไรเหมือนเดิม ตัดสินใจเหมือนเดิมจะช่วยประหยัดพลังงาน ไม่ทำให้สมองบ่นใส่เราว่า “เหนื่อย “ ได้ เราลองคิดถึงตัวอย่างที่ง่ายที่สุด เช่น การเดินไปซื้อ Cereal หรือ อาหารเช้าธัญญาพืช ยี่ห้อเดิมที่เคยกินประจำ กับการลองเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ ถ้าเราเลือกซื้อยี่ห้อเดิมที่เรากินอยู่ เราเดินไปที่ Supermarket เดิมรู้ด้วยซ้ำว่า เจ้า Cereal ยี่ห้อเดิมวางอยู่ตรงแถวไหนของชั้นวางสินค้า เดินไปปุ๊บ เห็นแค่สีและPackaging เราก็สามารถหยิบมันมาใส่ตะกร้า แล้วเดินไปซื้อของอย่างอื่นต่อได้เลย เราแทบไม่ต้องหยุดคิด ทุกอย่างดูอัตโนมัติ แถมบางทีตอนเดินไปหยิบเราคิดอะไรอย่างอื่นเพลินๆ ยังหยิบถูกอันได้เลย
ต่างจากการลองเปลี่ยนมาซื้อ Cereal ยี่ห้อใหม่ ที่กว่าจะตัดสินใจเลือกยี่ห้อที่ถูกใจได้ ก็ยืนอยู่ตรงชั้นวางขาย Cereal นั้นอย่างน้อย 10 นาที กว่าจะลองหาดูว่าแต่ละยี่ห้อมีส่วนผสมอะไร ราคาเท่าไหร่ กดเครื่องคิดเลข เปรียบเทียบความคุ้มค่าของราคา และถ้ามีความกังวลเรื่องน้ำหนักตัวด้วย ก็ต้องคำนวณปริมาณน้ำตาลและแคลไปด้วยอีก กว่าจะตัดสินใจเลือก Cereal ยี่ห้อใหม่ได้ก็ต้องใช้ความคิดและพลังงานสมองเยอะ เผลอ ๆ ตัวเองเปลี่ยนใจกลางคันระหว่างอยู่ในช่วง Process ของการตัดสินใจ Change กลับใจไปซื้อยี่ห้อเดิม เพราะรู้สึกว่า “ไม่เอาละ ขี้เกียจ”
2.) สมองยังนึกภาพไม่ออกว่าการเปลี่ยนแปลงหน้าตาเป็นอย่างไร และทำไมต้องเปลี่ยนด้วยหล่ะ แน่นอนที่สุด ขึ้นชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนั่นก็หมายถึง สิ่งที่ไม่เหมือนเดิม แตกต่างจากที่เราเคยทำ และอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ดังนั้น สมองก็อาจจะจินตนาการไม่ออกว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหน้าตาเป็นยังไง ถ้าเปลี่ยนไปแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สมองอาจจะสงสัยตั้งแต่กระบวนการขั้นตอนว่าทำไมต้องเปลี่ยน (Why) แล้วจะเปลี่ยนยังไง (How) แล้วต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง (What)
หากสมองนึกภาพไม่ออก ไม่เห็นความชัดเจน หรือมีความคลุมเครือเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนแปลง วิธีที่จะใช้ในการเปลี่ยนแปลง หรือผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงนั้นเอง ก็จะยิ่งสร้างปัจจัยที่ไม่เอื้อให้สมองมีความพร้อมและเต็มใจที่จะรับความเปลี่ยนแปลงหรือเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่กลับจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามซึ่งก็คือการต่อต้าน หรือ (Resistance To Change) แทน ถ้าเราอยากลองหาวิธีมาช่วยให้สมองนึกภาพของการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนขึ้น เราอาจจะลองใช้เทคนิคต่างๆ ได้โดยหากการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล เราอาจจะลองใช้วิธีการวาดภาพความสำเร็จให้ชัดเจน (What Does Success Look Like?) หมายถึงให้ลองจินตนาการให้เห็นภาพว่าหากเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้วสิ่งนั้นจะสร้างความสุขและความสำเร็จให้กับเราอย่างไร หรือหากการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นในระดับทีมหรือองค์กร ผู้บริหาร หรือในบางบริบทที่องค์กรมีผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Change Agent) จะต้องสื่อสารในเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน โอกาสที่จะได้รับการยอมรับและเต็มใจนำไปสู่การปฏิบัติตามก็จะยิ่งมีมากขึ้นค่ะ
3.) การเปลี่ยนแปลงมันยาก ใช้ความพยายามเยอะ แล้วถ้าทำไม่สำเร็จหล่ะ พอเขียนมาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะเริ่มเห็นภาพมากขึ้นแล้วว่า หากเราเริ่มรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือครั้งสำคัญ สมองที่แสนจะฉลาดของเราก็ดูเหมือนจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นภายใน แถมปฏิกริยาส่วนใหญ่ตามธรรมชาติก็จะเป็นไปในทางยกธงแดงบอกให้เราระวังภัยที่จะมาจากความเปลี่ยนแปลงนั้น และนั่นก็รวมไปถึงความกังวลและความกลัวที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ปิดกั้นเราไม่ให้ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงหรือเริ่มลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น การไม่อยากเปลี่ยนแปลงเพราะกลัวทำไม่สำเร็จ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องย้ายสายงานไปทำในสิ่งที่เราไม่คุ้นชินหรือไม่เคยทำมาก่อน เราจะมีความรู้สึกกลัวว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จในงานใหม่ที่ย้ายไปบ้างหรือเปล่า และยิ่งถ้าเรากำลังทำงานปัจจุบันของเราตอนนี้ได้ดีมาก สิ่งนี้จะทำให้ความกลัวความไม่สำเร็จในงานใหม่ที่ย้ายไปเพิ่มขึ้นด้วยหรือเปล่า
เราสามารถเอาชนะความกลัวว่าจะทำใม่สำเร็จในการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ด้วยการมีกรอบความคิดแบบเติบโตหรือ Growth Mindset ค่ะ การมีความคิดแบบเติบโตจะช่วยให้เรากล้ายอมรับความท้าทายใหม่ๆ เพราะกรอบความคิดแบบนี้จะเชื่อว่า เราสามารถทำสิ่งใหม่ๆ ให้ประสบความสำเร็จได้หากเรามีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ และมีความพยายามมากพอ แถมการมีกรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset จะช่วยให้เรามีมุมมองที่เป็นประโยชน์จากข้อผิดพลาดได้ดีขึ้น เพราะ หากเราลองทำวิธีนี้แล้วไม่สำเร็จ ถ้าคิดแบบง่าย ๆ ก็คือ วิธีนี้ ก็คืออีกหนึ่งวิธีที่ “ยัง” ไม่ Work ก็เท่านั้นเอง ถ้าอย่างนั้น เราได้เรียนรู้อะไรจากข้อผิดพลาดนี้บ้าง และเราจะปรับปรุงอย่างไรจากข้อผิดพลาดนี้
แม้ว่าสมองของเราจะมีธรรมชาติบางอย่างที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ในความเป็นจริงเราสามารถฝึกฝนให้สมองของเราคุ้นชินและยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นจากการลองทำอะไรใหม่ ๆ เช่น การปลูกต้นไม้ การเรียนภาษา หรืองานอดิเรกที่เรายังไม่เคยลองทำ การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำสิ่งใหม่ โดยเฉพาะเริ่มจากเรื่องที่สนใจ รวมถึงทำขั้นตอนแรกให้เป็นขั้นตอนที่ลงมือทำง่าย แบบ Baby Step ก็จะช่วยให้เพิ่มโอกาสและความมั่นใจที่จะทำการเปลี่ยนแปลงนั้นสำเร็จตามที่ตั้งใจค่ะ