Last updated: 21 Jun 2022 | 7078 Views |
เพราะอะไรองค์กรหลายแห่งจึงให้ความสำคัญ และต้องการให้บุคลากรมีความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience คำตอบคงหนีไม่พ้นการเตรียมให้ทุกคนพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามามากมายในศตวรรษที่ 21
Resilience หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ความสามารถในการฟื้นตัว มักจะมาควบคู่กับคำว่า Adaptability หรือ ความสามารถในการปรับตัว ถือเป็น Future Skill ที่ใครหลายคนคงได้ยินมาบ้างไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ของวิกฤตการณ์โควิดว่า เป็นทักษะที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวด Must Have เพราะการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่องค์กรต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง (Change) และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางด้านการบริหาร ด้านกลยุทธ์หรือแม้แต่โครงสร้างภายในองค์กร เพราะฉะนั้นหากบุคลากร
มีความยืดหยุ่น สามารถยอมรับและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้มากและเร็วเท่าไหร่ องค์กรและทีมงานก็จะมีโอกาสอยู่รอดและเพิ่มการแข่งขันในเชิงธุรกิจได้มากขึ้นเท่านั้น ในด้านตัวบุคคลากรเอง การที่เราสามารถยอมรับและปรับตัวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ไวขึ้นก็จะถือเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะ ทำให้เรายืดหยุ่นและสามารถรับมือกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้น องค์กรหลายแห่งจึงต้องการการฝึกอบรมให้บุคลากรมีทักษะและความสามารถดังกล่าวดัง แต่บางคนอาจจะยังมองภาพความเชื่อมโยงระหว่างความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience กับการบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้ไม่ชัดเจน ในบทความนี้เราจึงอยากมานำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience Skill พร้อมทั้งบอกถึงความสำคัญของความสามารถนี้ให้ฟังกันค่ะ
Resilience คืออะไร
คำว่า Resilience นั้น จริงๆ แล้วหากเปิดดูตามพจนานุกรมของ Cambridge จะพบว่าหนึ่งในความหมายของคำคำนี้จะแปลว่า “ความสามารถของวัตถุในการกลับสู่รูปร่างเดิมก่อนที่จะเกิดการงอหรือยืด” ซึ่งอาจจะฟังดูเข้าใจยาก ส่วนอีกหนึ่งความหมายที่สอดคล้องกับความหมายในมุมมองนักจิตวิทยา โดยทาง American Psychological Association ได้นิยามความหมายของ Resilience ไว้ว่า “กระบวนการที่ดี ที่ช่วยในการปรับตัวและรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่มีความยากลำบากหรือความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ยาก ความบอบช้ำทางจิตใจ โศกนาฏกรรม ภัยคุกคาม และความเครียดที่เกิดจากเรื่องต่างๆ เช่น ปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ปัญหาด้านการเงิน หรือปัญหาจากเรื่องงาน เป็นต้น” ซึ่งเราสามารถเรียกสั้นๆ ได้ว่า “ความสามารถในการฟื้นตัว” เราจึงเลือกใช้คำอธิบายในมุมมองของนักจิตวิทยา ในการอธิบายมุมมองของคำว่า Resilience นี้ นอกจากนั้นคำว่า ความสามารถในการฟื้นตัว ยังแฝงความหมายสั้นๆ ที่เกี่ยวกับ "ความสามารถในการปรับตัว" Adaptability และ “ความยืดหยุ่น” หรือ Flexibility อีกด้วย
หากจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น Resilience Skill ก็เปรียบเสมือนกับหนังยางเส้นหนึ่ง ไม่ว่าเราจะยืดให้มันยาวแค่ไหน พอปล่อยมือแล้วก็จะคืนรูปเหมือนเดิม ซึ่งเหมือนกับเวลาที่เราต้องเผชิญกับความล้มเหลว อาจจะมีบ้างที่รู้สึกเสียศูนย์ ผิดหวัง หรือแม้แต่เสียใจแต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะสามารถปรับตัวกลับมาฮึดสู้กับปัญหานั้นอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว และสามารถกลับมายืนอยู่ในจุดเดิมที่เรามีพลังเต็มเปี่ยมอีกด้วย ในมุมมองของจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) คำว่า Resilience ยังหมายถึงสภาวะที่เรานอกจากจะกลับมายืนในจุดเดิมที่เคยอยู่แล้ว เรายังแข็งแกร่งและดีกว่าเดิม หรือ Thrive ซึ่งหมายถึงการเติบโตอีกด้วย ซึ่งเข้ากับความหมายของBuzzword หรือคำยอดฮิตในปัจจุบัน คือคำว่า Antifragile ซึ่งทางคุณเคน นครินทร์ จาก The Standard ได้มีโอกาสพูดถึงในรายการ The Secret Sauce ที่ผ่านมา
ประโยชน์โดยรวมของการที่คนคนหนึ่งมีความสามารถในการฟื้นตัวนั้น อาจจะสรุปได้ว่า เมื่อเขาพบเจอกับความลำบาก ความท้าทายความบอบช้ำทางจิตใจ หรือความสูญเสีย เขาเหล่านั้นจะสามารถนำพาตัวเองออกมาจากความทุกข์ท้อใจและหมดกำลังใจได้อย่างรวดเร็วกว่าผู้ที่ไม่เคยฝึกฝน เมื่อค่อย ๆ ลุกขึ้นได้แล้ว เขาจะยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้เหมือนเดิม ซึ่งทักษะนี้เราสามารถนำไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต ไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะกับเรื่องของการทำงานเท่านั้น
เรียกได้ว่าเป็น Future Skill ที่น่าสนใจไม่แพ้ทักษะอื่นๆ ดังนั้นผู้นำขององค์กรต่างๆ จึงอยากพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience ติดตัวไว้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น และยังช่วยในเรื่องของการดูแลจิตใจให้เข้มแข็งขึ้นได้อีกด้วย
Resilience หรือ ความสามารถในการฟื้นตัว และAdaptability ความสามารถในการปรับตัวมีความสำคัญอย่างไร
1.) ช่วยให้จัดการกับความเครียดได้ง่ายขึ้น
เชื่อหรือไม่ การที่เราจมอยู่กับความเครียดนานๆ นอกจากจะทำให้อารมณ์ของเราแปรปรวนแล้วยังส่งผลต่อสมองของเราในระยะยาวอีกด้วย บทความของ Harvard Medical School ได้อธิบายไว้ว่า “ความเครียดจะส่งผลต่อสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำ ความคิด การตัดสินใจ รวมไปถึงการแสดงออกทางด้านอารมณ์ หากเราสามารถจัดการความเครียดของเราได้ดีก็จะเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความเครียดเช่น โรคหัวใจ และโรคทางสมองอื่นๆ ” การที่เรามีความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience Skill จะช่วยทำให้เรานั้นสามารถจัดการกับความเครียดได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เรามีมุมมองด้านบวกกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนสามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกขณะที่อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฟืันตัวกลับมาเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้เราต้องการที่จะปรับตัวหรือมี Adaptability เพื่อทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้สำเร็จไปพร้อมๆ กับการมีจิตใจที่เข้มแข็งมากขึ้น
2.) ช่วยให้มีแรงใจฮึดสู้กับปัญหา
หนึ่งในคุณสมบัติของผู้ที่มีความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience คือการที่เราจะไม่กลายเป็นคนที่ยอมแพ้กับอะไรง่ายๆ แต่คนที่มี Resilience จะเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ มีความกล้าเสี่ยงที่จะทำต่อ แม้ว่าจะเห็นปัญหาใหญ่หลวงที่อยู่ตรงหน้า แต่เขาก็จะมีพลังของนักสู้ที่จะพยายามหาหนทางก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านั้นเพื่อนำพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จ การมีความสามารถทางด้าน Resilience นี้จะช่วยให้เรามองปัญหาและอุปสรรคในแง่บวกว่านี่คือเวทีในการพิสูจน์ฝีมือ และโอกาสในการเรียนรู้ มองความล้มเหลวแต่ละครั้งเป็นบทเรียนที่สามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ เพื่อจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับงานและโปรเจกต์ต่างๆที่ได้รับมอบหมายในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีส่วนช่วยพัฒนาคนตนเอง (Self Development) ให้เติบโตไปพร้อมๆกับองค์กรได้ด้วย
3.) ช่วยป้องกันอาการ Burnout
ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม เชื่อว่าทุกคนจะต้องมีช่วงเวลาที่เรารู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่ทำอยู่ เบื่อกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำอยู่ซ้ำๆ จากที่เคยชอบการทำงานมากๆกลับกลายเป็นว่ารู้สึกหมด Passion ซะจนไม่อยากจะทำอะไร ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลงแบบเห็นได้ชัด ซึ่งเราเรียกภาวะแบบนี้ว่าอาการ “Burnout" หรือ "ภาวะหมดไฟ” นั่นเอง แต่ปัญหานี้จะพอคลี่คลายลงได้ ถ้าหากเรามีความสามารถทางด้าน Resilience มากขึ้น เพราะความสามารถในการฟื้นตัวนี้จะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนมุมมอง มีแรงฮึดและมีเป้าหมายในการทำงานแต่ละครั้ง รวมถึงมีการ Balance การทำงานหนักและการได้หยุดพักเพื่อดูแลร่างกายและจิตใจตัวเอง โดยเราอาจจะตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่จะช่วยเสริมแรงจูงใจในการทำงานพร้อมๆ ไปกับการดูแลตนเอง หรือทำในสิ่งที่เราชอบ เช่น เมื่อทำโปรเจกต์นี้เสร็จเราจะไปกิบบุฟเฟ่ต์กับเพื่อนในทีม หรือถ้าเสนอโปรเจกต์ผ่านก็จะได้หยุดพักไปทะเลสักสองวัน เป็นต้น
4.) ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข
ในชีวิตการทำงานของเรา คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ทำงานอย่างมีความสุขและสามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความสามารถทางด้าน Resilience จะช่วยให้เรามองโลกในแง่ดีมากขึ้น และมี Adaptability หรือความสามารถในการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย แม้จะเจอเรื่องที่ไม่ชอบก็สามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกได้ จิตใจสงบมากขึ้น จนกลายเป็นคนที่พอใจกับชีวิตการทำงานของตัวเองโดยรวม นอกจากนั้นถ้าคนในทีมมีความสามารถทางด้าน Resilience ก็จะส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมจะแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ต่างคนต่างรับฟังปัญหาและความรู้สึกของกันและกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น แม้จะเกิดปัญหาทุกคนก็จะร่วมมือร่วมใจกันหาวิธีแก้ไขโดยที่ไม่เกิดความขัดแย้ง
5.) ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
เวลาที่เรารู้สึกเครียดกับเรื่องบางอย่าง เรามักจะรู้สึกได้ว่าเรามักจะมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องเดิมซ้ำๆ จนทำให้ในขณะนั้น เราอาจจะรู้สึกว่าสมองของเราตื้อๆ คิดอะไรไม่ค่อยออก ความคิดสร้างสรรค์ลดน้อยลง อ้างอิงจากผลการศึกษาในปี 2002 ซึ่งศึกษาจากกลุ่มคนที่ต้องการทำงานที่ใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์สูง เมื่อพวกเขามีความเครียดและความกดดันจากเรื่องเวลา ก็พบว่าคนเหล่านั้นมีความคิดสร้างสรรค์ที่น้อยลง แต่ Resilience จะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับความเครียด เปิดทางให้สมองได้พักและกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แบบเต็มที่ จนสามารถคิดหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างที่ต้องการ เป็นการเสริมความมั่นใจในตัวเองได้ดี และยังเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนโปรเจกต์ใหม่ๆกับคนในทีมด้วย
6.) ส่งผลดีต่อสุขภาพ
นอกจาก ความสามารถในการฟื้นตัว หรือ Resilience จะช่วยในเรื่องของความเข้มแข็งทางด้านจิตใจแล้ว ยังช่วยให้เราไม่ละเลยการดูแลสุขภาพกายของตัวเองด้วย เพราะเวลาที่เราไม่มีความกังวลเกี่ยวกับงานที่ทำจนเกินไป เราก็จะมีเวลาได้คิดเรื่องที่เป็นประโยชน์และสำคัญเกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของสุขภาพกาย เราจะมีเวลาใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของอาหารการกิน การออกกำลังกาย กิจกรรมผ่อนคลายหลังจากเลิกงาน รวมไปถึงหากใครที่มีปัญหาทางด้านการนอนหลับ การมีทักษะในด้าน Resilience ไว้ติดตัว ก็จะทำให้เราสามารถจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น ลดความคิดฟุ้งซ่าน ไม่ต้องกังวลกับการทำงานในแต่ละวัน ช่วยให้เราสามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น และได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้เช้าวันรุ่งขึ้นเราจะสามารถตื่นมาพร้อมเริ่มทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่
นี่คือความสำคัญของความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience ที่องค์กรหลายแห่งได้บรรจุ Competency นี้เอาไว้ในแผนการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้คนในองค์กรมีความพร้อมในการใช้ทักษะที่เป็น Future Skill ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา