Psychological Safety in Workplace ความปลอดภัยทางจิตใจในที่ทํางาน

Last updated: 25 May 2023  |  1588 Views  | 

Psychological Safety

ในปัจจุบันPsychological Safety เป็นคำที่องค์กรชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้าง Teamwork ที่แข็งแกร่งจนสามารถพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะและศักยภาพของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถสร้าง Psychological Safety หรือความปลอดภัยทางจิตใจ ได้ ทาง Plusitives ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาให้ในบทความนี้แล้ว

Psychological Safety คืออะไร
Psychological Safety แปลว่าความปลอดภัยทางจิตใจ มีความหมายว่า “ความเชื่อที่ว่าคุณจะไม่ถูกลงโทษหรือถูกทำให้อับอายเมื่อมีการแสดงความคิดเห็น การตั้งคำถาม การอธิบายความกังวลใจ หรือมีข้อผิดพลาดในการทำงาน และคุณจะปลอดภัยจากมุมมองของสมาชิกภายในทีม เมื่อต้องทำอะไรที่มีความเสี่ยงกระทบกับคนอื่นๆ” ซึ่งคำนี้ถูกนิยามขึ้นเป็นครั้งแรกโดยAmy C. Edmondsonนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Harvard ที่ทำการศึกษาค้นคว้าในหัวข้อ “ประสิทธิภาพของการทำงานเป็นทีม” และพบว่า Psychological Safety หรือ ความปลอดภัยทางจิตใจ คือ กุญแจสำคัญในการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ

อีกทั้งยังช่วยลดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกภายในทีมได้อีกด้วย อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ ccl.orgที่ได้มีการเปิดเผยผลการศึกษาว่า จากการติดตามการทำงานของหัวหน้าทีมประมาณ 300 คน เป็นเวลากว่า 2.5 ปี ทีมที่มีระดับ Psychological Safety หรือ ความปลอดภัยทางจิตใจ สูง ก็จะมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงตามไปด้วย และมีโอกาสเกิดความขัดแย้งภายในทีมต่ำมากๆ

Psychological Safetyมีทั้งหมดกี่ระดับ
ในปี 2020 ที่ผ่านมา Timothy R. Clarkผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร LeaderFactorได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Psychological Safety ว่าประกอบไปด้วยความปลอดภัยทางจิตใจทั้งหมด 4 ระดับด้วยกัน ได้แก่

ระดับที่ 1 Inclusion Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง

สำหรับ Psychological Safety ระดับที่1 จะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีการเข้าร่วมกับทีมและได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคน โดยที่ไม่มีการตัดสิน หรือแบ่งแยกความแตกต่าง ทุกคนมีความสำคัญเท่า ๆ กัน ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คุณเกิดความรู้สึกปลอดภัยที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมนั้นๆ

ระดับที่ 2 Learner Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้

หลังจากคุณได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมแล้ว จะมีการพัฒนาความปลอดทางจิตใจขึ้นมาอีกระดับ เพราะการทำงานจริง เราไม่สามารถหยุดนิ่งได้ โดยเฉพาะในยุค Digital Transformation ที่มีสิ่งใหม่ๆ ให้เราต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ความปลอดทางจิตใจในระดับนี้  จะทำให้คุณมีความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กล้าที่จะตั้งคำถามและเสนอไอเดีย รวมไปถึงกล้าที่จะลองผิดลองถูก เรียกได้ว่า Psychological Safety ระดับนี้ จะช่วยให้คุณสามารถเปิดใจเรียนรู้และดึงศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่
อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ elifesciences.orgเมื่อมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เซลล์ประสาทภายในสมองจะมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับมีการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทในรูปแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำรูปแบบเดิม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองได้

ระดับที่ 3 Contributor Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยที่จะลงมือทำ

เมื่อคุณมีความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้ว ก็จะมีการพัฒนาไปเป็น Contributor Safety ทันทีเมื่อหัวหน้าทีมได้มอบหมายหน้าที่ให้เพราะเชื่อว่าคุณจะทำงานในส่วนนี้ได้ดี คนในทีมที่มี ความปลอดทางจิตใจในระดับนี้จะเกิดความรู้สึกระตือรือร้น พร้อมที่จะใช้ความสามารถและทักษะของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจถือได้ว่า Psychological Safety ระดับนี้ มีส่วนสำคัญในการสร้างความไว้วางใจระหว่างคนในทีมและเกิดเป็น Teamworkที่มีประสิทธิภาพในที่สุด

ระดับที่ 4 Challenger Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยที่จะท้าทาย

มาถึงระดับสุดท้ายของ Psychological Safetyกันแล้ว โดยเป็นการพัฒนาต่อจากระดับที่3 จนได้เป็น Challenger Safety ที่จะทำให้คุณมีความมั่นใจที่จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เมื่อบางอย่างควรได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าในอนาคต อีกทั้งยังทำให้คุณกล้าเผชิญกับความกดดัน และยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้อีกด้วย อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ porchlightbooks.com

ประโยชน์ของการสร้าง Psychological Safetyในที่ทำงาน

1.) อัตรา Turnover ลดลง
สำหรับองค์กรที่มีการสร้าง Psychological Safety หรือ ความปลอดทางจิตใจ พนักงานจะรู้สึกสบายใจที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นๆ   มีความเคารพซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งน้อยลง ส่งผลให้บรรยากาศในการทำงานเป็นมิตรต่อทุกคน และอัตราการลาออกของพนักงานก็ลดลงตามไปด้วย อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ gritsearch.com มีการระบุว่า พนักงานมักจะลาออกเมื่อเจอกับบรรยากาศการทำงานที่ Toxic, หัวหน้างานที่มักจะให้แต่คำวิจารณ์เชิงลบ , ตำแหน่งงานที่ทำมีโอกาสเติบโตน้อย เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว Psychological Safetyยังช่วยลดความตึงเครียดในการทำงาน ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ทำให้ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมน Dopamine ออกมามากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มสมาธิ เพิ่มแรงจูงใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น อ้างอิงจากบทความของ Brent Kedzierski

2.) มีความผูกพันกับงานและองค์กรมากขึ้น
เมื่อพนักงานรู้สึกถึงความปลอดภัยและสบายใจกับการทำงาน ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกมีแรงจูงใจที่จะทำงานด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับองค์กรเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะตนเองเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร ซึ่งก็ล้วนเป็นผลมาจาก Psychological Safety หรือ ความปลอดทางจิตใจ ทั้งสิ้น

3.) ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
Psychological Safetyในที่ทำงาน จะทำให้พนักงานมีความกล้าที่จะเสนอความคิดเห็นของตนเอง เพราะรู้ว่ายังไงตนเองก็จะไม่โดนตำหนิหรือโดนทำให้อับอาย จึงทำให้สมองทั้ง 2 ซีก คือสมองซีกซ้าย (Left Hemisphere) และสมองซีกขวา (Right Hemisphere)   มีการทำงานประสานกันและสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทมากมายนับไม่ถ้วน เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้ อ้างอิงจากบทความของ Alison Koontz

4.) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีม
อ้างอิงจากบทความของ Laura Delizonna เมื่อทุกคนรู้สึกปลอดภัยและเปิดใจที่จะทำงานร่วมกัน ความไว้วางใจระหว่างคนในทีมก็จะเกิดขึ้น รวมไปถึงการให้ Feedback เพื่อพัฒนาปรับปรุงงานอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีมได้ ดังนั้น การสร้าง Psychological Safetyในที่ทำงาน จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการที่จะพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ 

เคล็ดลับในการสร้าง Psychological Safetyในที่ทำงาน มีอะไรบ้าง

1.) หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือต่อว่าผู้อื่น
อันดับแรกของการสร้าง Psychological Safety หรือ ความปลอดทางจิตใจ จะต้องเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความไว้วางใจว่า "จะไม่มีใครในทีมโดนตำหนิหรือโดนลงโทษจากการเสนอความคิดเห็น การถามคำถาม รวมไปถึงการเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน"

2.) ให้โอกาสทุกคนได้พูดในสิ่งที่คิด
ในการประชุมแต่ละครั้ง ควรจะให้โอกาสทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้พูดแสดงความคิดเห็นของตนเอง  โดยอาจกำหนดเวลาในการแสดงความคิดเห็นที่เท่ากัน ช่วยตัดสินใจในเรื่องต่างๆ พร้อมกับเปิดรับ Feedback จากทุกคนในทีม โดยที่จะต้องไม่มีการตัดสินว่าความคิดเห็นนั้นๆ ดีหรือไม่ เพราะจะทำให้ทุกคนกลัวที่จะเสนอไอเดียและเป็นการทำลาย Psychological Safety ในที่ทำงาน

3.) ต้องรู้จักตระหนักรู้ในตนเอง
สิ่งสำคัญสำหรับการทำงานแบบ Teamworkคือ สมาชิกภายในทีมจะต้องมีความตระหนักรู้ในตนเอง ซึ่งรวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ Psychological Safety ด้วยเช่นกัน ทุกคนจะต้องรู้ว่าตนเองมีการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร ต้องควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนเองอย่างมืออาชีพ ตระหนักรู้ในการแสดงออก ทั้งทางด้าน สีหน้าและท่าทาง เพื่อให้คนอื่นๆ รู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยความคิดเห็นส่วนตัว

4.) สนับสนุนและให้รางวัลเมื่อมีโอกาส
การสนับสนุนและให้รางวัลกับคนในทีม เช่น การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับแต่ละคน การเลี้ยงสังสรรค์เมื่อโปรเจ็กต์สำเร็จลุล่วง เป็นต้น การกระทำเหล่านี้จะทำให้พวกเขามีแรงจูงใจและมีความมั่นใจในความสามารถของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ทุกคนกล้าเสนอไอเดีย กล้าลงมือทำ และพร้อมรับฟัง Feedback เสมอ ท้ายที่สุดก็จะเกิด Psychological Safetyในที่ทำงาน

จะเห็นว่าการสร้าง Psychologocal Safetyนั้น มีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จขององค์กรและการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยที่ขั้นตอนการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะเป็นระดับผู้นำองค์กร หัวหน้า หรือสมาชิกในทีมก็สามารถเริ่มลงมือปฏิบัติได้หากมีความตั้งใจจริง

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy