Last updated: 1 May 2024 | 1724 Views |
Growth Mindset คือ หัวข้อที่องค์กรชั้นนำต่างให้ความสนใจ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัท พลัสซีทีฟ ได้มีโอกาสหลายต่อหลายครั้งในการไปจัดฝึกอบรมให้กับองค์กรชั้นนำของประเทศในหัวข้อดังกล่าว หนึ่งในเหตุผลที่สำคัญที่องค์กรต่าง ๆ ให้ความสนใจในการพัฒนาบุคลากรในด้านการสร้างกรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset นั้นก็เพราะมีการศึกษามากมายที่มีการยืนยันว่ากรอบความคิดแบบนี้ มีส่วนสำคัญใน การช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ให้กับพนักงาน โดยการมีกรอบความคิดแบบเติบโตจะช่วยให้พนักงานมีความคิดที่ยืดหยุ่น พยายามค้นหาวิธีการจัดการกับงานหรือการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ รวมถึงการพยายามสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) และความคิดริเริ่มปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ภายในองค์กร นอกจากนี้กรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset ยังช่วยเสริมสร้าง การสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ และสามารถพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ ดังนั้น องค์กรชั้นนำทั่วโลกจึงพยายามหาวิธีการสร้าง Growth Mindset ให้กับพนักงานทุกคน แต่จะต้องเริ่มต้นอย่างไร มีเทคนิคอะไรที่ต้องเรียนรู้เป็นพิเศษหรือไม่ ทาง Plusitives ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาให้แล้ว ไปค้นหาคำตอบพร้อมๆ กันได้เลย
Growth Mindset คืออะไร
คำว่า Growth Mindset แปลว่า กรอบความคิดแบบเติบโต ถูกนิยามขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2006 โดย ดร. Carol Dweck ได้มีการตีพิมพ์หนังสือ Mindset: The New Psychology of Sucess และให้คำนิยามไว้ว่า “กรอบความคิดที่เชื่อว่าความสามารถต่างๆ สามารถพัฒนาได้”
นอกจากนั้นแล้ว Dr. Marlene Tromp อธิการบดีของมหาวิทยาลัย Boise State ได้มีการขยายความและอธิบายลักษณะของผู้ที่มี Growth Mindset ไว้เพิ่มเติม ซึ่งมีการแบ่งลักษณะเด่นๆ ออกเป็น 5 ข้อด้วยกัน คือ
- เชื่อว่าความสามารถและสติปัญญาสามารถพัฒนาได้
- มองว่าความพยายามคือหนทางสู่ความสำเร็จ
- พร้อมที่จะรับมือกับความท้าทาย
- กล้าที่จะยอมรับความผิดพลาด
- พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับปรุงเมื่อได้รับคำวิจารณ์
Growth Mindset Vs Fixed Mindset
หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับ Growth Mindset กันไปพอสมควรแล้ว ยังมีอีกหนึ่งคำที่มักจะถูกพูดถึงคู่กันเสมอ นั่นก็คือคำว่า Fixed Mindset หรือ กรอบความคิดแบบตายตัว ซึ่งผู้ที่มีกรอบความคิดแบบนี้ จะมีความเชื่อว่าทักษะและความสามารถของคนเรานั้น เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่แรก ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด คนเก่งที่ประสบความสำเร็จมีต้นทุนที่ดีและสูงกว่า เราไม่เก่งเรื่องใด ก็จะไม่เก่งเรื่องนั้นอยู่วันยังค่ำ เพราะเชื่อว่าความสามารถและทักษะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ส่งผลให้เกิดการปิดกั้นและขัดขวางความก้าวหน้าของตนเอง นอกจากนั้นแล้วการมีกรอบความคิดแบบนี้ยังมีผลต่อการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพด้วย อ้างอิงจากผลการศึกษาของ Soo Jeoung Han และทีม พบว่า ทีมที่มี Growth Mindset จะมีทำงานร่วมกันได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าทีมที่มี Fixed Mindset
Growth Mindset ในการทำงาน สำคัญอย่างไรกับองค์กร
1. ช่วยให้รับมือกับความท้าทายได้
ในยุค Digital Transformation ที่เราทุกคนต้องมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายอยู่เสมอ Growth Mindset คือ ทีกรอบความคิด พื้นฐานที่มีส่วนช่วยอันสำคัญที่จะทำให้พนักงานทุกคนสามารถรับมือกับความท้าทายได้ เนื่องจากคนที่มี กรอบความคิดแบบเติบโต จะมีความเชื่อว่าความท้าทายคือบทเรียนที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะและความรู้ ให้ดีขึ้นได้นั่นเอง พวกเขาจะมีความพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา มีเกิดข้อผิดพลาดก็จะยอมรับและเรียนรู้จากมัน แม้ระหว่างทางนั้นจะเกิดความเครียดบ้าง แต่ก็สามารถจัดการกับอารมณ์ด้านลบได้ในที่สุด
ในทางกลับกัน พนักงานที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้มีกรอบความคิดแบบ Growth Mindset ก็จะรับมือกับความท้าทายได้ไม่ดีนัก จนเกิดความเครียดและความกลัวกับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ ในทางร่างกาย ส่งผลให้การไหลเวียนในเลือดไม่ดี แถมยังมีการหลั่งฮอร์โมน Cortisol ออกมา หรือ สารเคมีความเครียด ส่งผลให้พนักงานมีอารมณ์ด้านลบ ไม่มีสมาธิ ความสามารถในการตัดสินใจลดลงตามมา อ้างอิงจากบทความของ Sarah Warren
2. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
อ้างอิงจากงานวิจัยของ Matt Zingoni และ Christy M. Corey พวกเขาค้นพบว่า กรอบความคิดมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน หากพนักงานของคุณมีความคิดแบบ Growth Mindset ก็สามารถการันตีในเบื้องต้นได้ว่าโอกาสที่พนักงานคนนั้นจะเป็น High Performer หรือคนทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง ย่อมมีความเป็นไปได้มาก เพราะเขาเหล่านั้น จะพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ นอกจากนั้นแล้วความคิดแบบ Growth Mindset จะทำให้ภายในสมองของเรามีการเปลี่ยนแปลง เซลล์ประสาทมีการเชื่อมต่อกันในรูปแบบใหม่ (Neuroplasticity) แทนที่จะมีการเชื่อมต่อในรูปแบบเดิมซ้ำๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น มีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำมากขึ้นด้วย อ้างอิงจากบทความของ Patrick Malone
3. มีส่วนสำคัญสำหรับการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ
Growth Mindset คือ สิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับการทำงานเป็นทีม เนื่องจากกรอบความคิดดังกล่าวจะทำให้ทุกคนในทีมเปิดรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงงานในส่วนที่ตนเองทำอยู่ให้ดีขึ้น เมื่อเกิดข้อผิดพลาด ก็จะไม่มีการตัดสินและโทษคนอื่น แต่จะพยายามช่วยกันหาวิธีแก้ไข เกิดเป็นบรรยากาศที่เป็นมิตร ทุกคนสบายใจที่จะทำงานด้วยกัน เมื่อทุกคนรู้สึกสบายใจ มีความสุขกับการทำงาน ก็จะเป็นการกระตุ้นสมองส่วน ventral striatum ให้เกิดการทำงาน และมีการค้นพบว่า เมื่อสมองส่วนนี้ทำงานอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อสุขภาพ รวมไปถึงมีปริมาณฮอร์โมนความเครียดลดลงด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพต้องมีการฝึกคิดแบบ Growth Mindset ข้อมูลนี้มีการอ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ newsinhealth.nih.gov
เทคนิคการสร้าง Growth Mindset ให้กับลูกน้อง
1. ให้ Feedback งานอย่างสร้างสรรค์
คำวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์โดยปราศจากคำพูดเชิงลบ โดยอาจจะเป็นการชี้ให้เห็นจุดผิดพลาดพร้อมทั้งเสนอวิธีแก้ไข หรือการชื่นชมในความพยายามเมื่องานของพวกเขาประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าคุณเชื่อในศักยภาพของพวกเขา สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานของคุณรู้สึกดีและเต็มใจที่จะพัฒนาทักษะตนเองให้ดีขึ้น และนำไปสู่การมีความคิดแบบ Growth Mindset ได้ในที่สุด
2. สนับสนุนให้มีการลองผิดลองถูก
การลองผิดลองถูกถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตนเอง ดังนั้น เมื่อพนักงานของคุณเสนอไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมา ก็ลองให้พวกเขาได้ทดลองเรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าไอเดียนั้นเวิร์คหรือไม่ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่คุณก็สามารถส่งเสริมแนวคิดแบบ Growth Mindset ได้ ด้วยการชี้ให้เห็นว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง แทนที่จะโฟกัสไปที่ผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว เราอาจสามารถสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย (Psychological Safety) ให้พนักงานได้ลองผิดลองถูกในเรื่องง่าย ๆ และมี ความเสี่ยงไม่สูงในแง่มุมของธุรกิจก่อน เพื่อให้แต่ละคนได้มีโอกาสนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ และลองลงมือทำ นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกให้ทุกคนรับมือกับความผิดพลาดได้อีกด้วย
3. ให้รางวัลเป็นคอร์สเสริมทักษะ
เวลาที่โปรเจ็กต์ประสบความสำเร็จ ผู้นำหลายคนก็มักจะให้รางวัลด้วยการทีมไปฉลอง หรือมอบวันหยุดพักผ่อนให้ แต่ถ้าคุณอยากเสริมสร้างกรอบความคิดแบบ Growth Mindset ให้กับพนักงาน ลองให้โอกาสพวกเขาได้เลือกคอร์สพัฒนาทักษะหรือเสริมความรู้ต้องการ โดยมีคุณเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียน สิ่งนี้ก็จะทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของตนเองให้ดีมากยิ่งขึ้น และคอร์สการเรียนรู้นี้เราไม่ได้หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับงานเท่านั้น แต่เราอาจจะสนับสนุนการเรียนรู้ในเรื่องที่พวกเขาสนใจจริง ๆ เช่น คอร์สการทำอาหาร การชงกาแฟ การวาดรูป แม้ว่าเรื่องที่เราสนับสนุนในด้านการเรียนรู้อาจไม่เกี่ยวกับงานโดยตรง แต่ประโยชน์ทางอ้อมที่จะได้รับคือการที่พนักงานจะได้ฝึกทักษะและได้รับประสบการณ์และมุมมองใหม่ ๆ นำพาตนเองออกจาก Comfort Zone
4. สร้างแรงบันดาลใจ
เนื่องจากพนักงานแต่ละคนมีความต้องการต่างกัน ส่งผลให้วิธีการสร้างแรงบันดาลใจแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นจึงควรมีการพูดคุยกับแต่ละคนเป็นการส่วนตัวว่าพวกเขามีเป้าหมายอะไรในการทำงาน วางแผนอนาคตไว้ยังไงบ้าง เพื่อที่จะได้ส่งเสริมพวกเขาได้ตรงจุด และเป็นการสร้าง Growth Mindset ให้เกิดขึ้นอีกด้วย
จะเห็นว่า Growth Mindset คือ สิ่งสำคัญสำหรับองค์กรต่างๆ เพราะนอกจากจะช่วยให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในยุค Digital Transformation นี้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.boisestate.edu/student-life/5-1-2-things-about-growth-mindset-from-dr-tromp/
https://www.baileyandfrench.com/2020/01/why-having-a-growth-mindset-is-vital-to-succeed-as-a-team/
https://abnresource.com/31/leadership/how-a-growth-mindset-benefits-your-company/
https://www.techtello.com/how-to-promote-growth-mindset-in-workplace/
https://emeritus.org/blog/growth-mindset-in-the-workplace/