Last updated: 15 ธ.ค. 2565 | 1183 จำนวนผู้เข้าชม |
Adaptability หรือความสามารถในการปรับตัว มีความสำคัญกับการทำงานในโลกยุคศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมาก ถือว่าเป็น Soft skills ที่ทุกคนควรมีติดตัวไว้ เพราะจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่าย และสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้นด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า การที่เราจะมีทักษะในการปรับตัว หรือ Adaptability ได้นี้ จุดเริ่มต้นข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือการที่เราจะต้องมี ความฉลาดทางด้านอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence เสียก่อน
ดังนั้น ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับความฉลาดทางด้านอารมณ์หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า “EQ” และมาดูมุมมองที่น่าสนใจกันว่า Emotional Intelligence จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านการปรับตัว หรือ Adaptability ได้อย่างไร รวมไปถึงการบอกเคล็ดลับ เทคนิคการพัฒนาคนในองค์กรให้มี EQ เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้มีทักษะในการปรับตัวที่ดีขึ้นด้วย
อะไรคือ EQ หรือ Emotional Intelligence
เราอาจจะรู้สึกว่า EQ กับ IQ เป็นคำที่คุ้น ๆ มีความคล้ายคลึงกัน สำหรับ IQ นั้นเป็นตัวย่อมาจากคำว่า Intelligence Quotient หรือความฉลาดทางด้านสติปัญญา ในขณะที่ EQ คือ Emotional Quotient หรือ Emotional Intelligence ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ความฉลาดทางด้านอารมณ์ EQ เป็นคำที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1990 โดยนักวิจัย 2 ท่าน ได้แก่ Peter Salavoy และ John Mayer โดยมีการให้คำนิยามไว้ว่า “ความสามารถในการตีความ เข้าใจ และสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองและคนรอบข้างได้” ซึ่งเป็นความสามารถที่ส่งผลต่อการพัฒนา Adaptability และส่งผลต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย
เมื่อพูดถึง Emotional Intelligence หรือความฉลาดทางด้านอารมณ์ โดยทั่ว ๆ ไป เรายังมีการจัดระดับให้กับความฉลาดทางด้านอารมณ์นี้ด้วย โดยมีตั้งแต่ระดับต่ำไปจนถึงระดับสูง โดยคนที่มี EQ ในระดับต่ำ จะสังเกตได้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีลักษณะนิสัยที่โกรธง่าย ไม่ค่อยยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น บางครั้งแสดงออกด้วยความก้าวร้าว มีการแสดงออกทางสีหน้าเมื่อรู้สึกไม่พอใจอย่างชัดเจน รู้สึกดีเมื่อมีคนเข้าข้างตัวเอง รวมถึงสามารถตัดความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ง่าย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นมีความอดทนต่อสิ่งรอบข้างต่ำ และมีความสามารถในการปรับตัว หรือ Adaptability ที่น้อยเมื่อเทียบกับคนที่มี EQ หรือความฉลาดทางด้านอารมณ์สูง เพราะคนที่มีความฉลาดทางด้านสังคมสูง จะสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดี มีความตระหนักรู้เกิดขึ้นว่าในขณะนี้ตนเองรู้สึกอย่างไร และจะจัดการกับอารมณ์และความคิดของตนเองอย่างไร รวมไปถึงการใส่ใจความรู้สึกคนรอบข้าง มีความยืดหยุ่นสูง ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และสามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองและของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้เราพัฒนาและสร้างความสามารถในการปรับตัวหรือ Adaptability ได้ง่ายขึ้น
EQ แตกต่างจาก IQ อย่างไร
Intelligence Quotient หรือ IQ คือความฉลาดทางด้านสติปัญญา คำๆ นี้เป็นคำที่ใช้อธิบายความสามารถในการเรียนรู้ วิเคราะห์ จดจำ รวมไปถึงการใช้เหตุผล การคำนวณ และการเชื่อมโยง โดยมีการจัดระดับ IQ ตั้งแต่ระดับต่ำไปจนถึงระดับสูงเหมือนกับ EQ แต่คนที่มี IQ สูงนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมี EQ สูง เพราะทั้งสองสิ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมาด้วยกันเสมอ คนที่มีความฉลาดทางด้านสติปัญญาสูงก็สามารถมี EQ ที่ต่ำได้ ซึ่งการมีความฉลาดทางด้านอารมณ์ต่ำจะส่งผลให้บุคลผู้นั้น มีการพัฒนาทักษะทางด้านการปรับตัวหรือ Adaptability อยู่ในระดับต่ำด้วย เพราะแม้จะเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมากเพียงใดแต่เมื่อเวลาพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด คนเหล่านี้ก็จะยอมรับและรับมือกับมันได้ยากกว่าคนอื่นๆ รวมไปถึงไม่สามารถจัดการกับความคิดและอารมณ์ของตัวเองได้ดีเท่าที่ควร จนอาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานองค์รวม รวมไปถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานได้ เหตุผลนี้จึงทำให้องค์กรหลายแห่งต่างก็ต้องการพัฒนาคนในองค์กรให้มีทั้ง IQ และ EQ ที่ดี เพื่อที่จะต่อยอดในการพัฒนาทักษะในการปรับตัวหรือ Adaptability skill ให้คนในองค์กรกลายเป็นคนที่มีความยืดหยุ่น รับมือและปรับตัวได้รวดเร็วพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีตามที่องค์กรต้องการ
EQ ช่วยให้เรามี Adaptability ได้อย่างไร
1.) เข้าใจคนรอบตัว
คนที่มี Adaptability หรือความสามารถในการปรับตัวสูง มักจะเป็นคนที่คอยสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกของคนที่อยู่โดย เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เจอได้อย่างรวดเร็ว และเหมาะสมที่สุด ดังนั้น การที่เรามี Emotional Intelligence ในระดับที่ดี จะมีส่วนช่วยให้เราสามารถสังเกตคนรอบข้างและเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ๆมากขึ้น รู้ว่าต้องตอบสนองอย่างไรเพื่อให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดี เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้คำพูดและท่าทางที่แสดงออก และทักษะนี้เองก็ส่งผลทำให้ผู้ที่มีความฉลาดทางด้านอารมณ์สามารถใช้ทักษะเช่นนี้ในการสร้างความสามารถในการปรับตัวหรือ Adaptability ไปได้ด้วย โดยเราสามารถสังเกตคนที่สามารถปรับตัวได้ดีจากเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การที่พวกเขาเหล่านั้นสามารถปรับตัวได้ง่ายเมื่อต้องพบปะและทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านายคนใหม่ รู้ว่าต้องวางตัวอย่างไร จึงจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ลดการเกิดความขัดแย้งภายในทีม และทุกคนมีความเข้าใจกันเป็นอย่างดี ผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2016 ที่มีการศึกษาความสัมพันธ์ของความฉลาดทางด้ายอารมณ์กับความสามารถในการปรับตัวพบว่า นักเรียนที่ได้ฝึกและพัฒนา Emotional Intelligence จะมีพฤติกรรมที่สามารถปรับตัวกับสิ่งต่างๆได้ดีรวมไปถึงทักษะด้านการสื่อสารและการเข้าสังคมอีกด้วย
2.) เปิดใจรับสิ่งใหม่ได้ง่าย
แน่นอนว่า Adaptability หรือที่บางคนเรียกว่า Adaptability skill จะเกิดขึ้นได้ถ้าเรารู้จักที่จะยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการที่เราจะยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆอาจจะทำได้ยาก แต่ถ้าเรามี Emotional Intelligence อยู่ในระดับที่ดี ก็จะช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น โดยเราจะมีการฝึกฝนในการเปลี่ยนแปลงความคิดจากมุมมองเชิงลบให้เป็นมุมมองเชิงบวก โดยจากที่เราเคยมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดเป็นสิ่งที่ไม่โอเค การมี EQ ที่สูงจะช่วยให้เรามองโลกในแง่บวกได้ง่ายขึ้น เช่นเราอาจสามารถมองได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งอาจจะส่งผลดีและมีประโยชน์ต่อการทำงานของเราในอนาคตได้ เรียกว่าเป็นการฝึกคิดให้เกิดการยอมรับและการปรับตัวหรือ Adaptability ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย
3.) ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี
คนที่มี Soft skills อย่าง Adaptability จะเป็นคนที่สามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองในสถานการณ์นั้นๆได้ดี เพราะฉะนั้น EQ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่เกิดความเครียด และเรามีอารมณ์ขุ่นมัว เช่นหน้าที่หรืองานที่ได้รับมอบหมายให้ทำมีการเปลี่ยนแปลงกระทันหัน เราจะสามารถควบคุมตัวเองและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น โดยการเปลี่ยนความเครียดและอารมณืเชิงลบให้กลายเป็นพลังและแรงผลักดันให้กับตัวเอง
นอกจาก EQ จะส่งผลต่อ Adaptability แล้ว ยังส่งผลต่อการทำงานของระบบสมองของเราที่รับผิดชอบทางด้านอารมณ์ความรู้สึกโดยตรงหรือระบบสมองในส่วน Limbic ที่ทำหน้าหลักเกี่ยวเนื่องกับการตอบสนองทางด้านอารมณ์ และระบบสมองในส่วน Neocortex ที่ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดและการตัดสินใจ อ้างอิงจากบทความเรื่อง Emotional Intelligence and the Brain เมื่อเวลาที่เราต้องตัดสินใจสิ่งใดเราสามารถใช้หลักเหตุผลแทนการใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งได้หากเราฝึกฝนเพื่อให้เกิดความสามารถทางด้าน EQ วึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานและการใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียด
เทคนิคเพิ่ม EQ เพื่อต่อยอดในการพัฒนาทักษะ Adaptability
1.) Self-awareness
อันดับแรกของการพัฒนา EQ เราจะต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ในสิ่งที่ตัวเองกำลังเป็นหรือกำลังรู้สึกในขณะนั้นก่อน ซึ่งอาจหมายรวมถึงความคิดและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเราอาจจะเริ่มจากสิ่งง่ายๆด้วยการสังเกตตนเอง ลองย้อนกลับมาดูตัวเองด้วยการใช้สติ (Mindfulness) เพื่อให้ความคิดกลับมาโฟกัสและจดจ่ออยู่กับตัวเอง ใช้เวลาในช่วงนี้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรม และอารมณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร สิ่งใดเป็นสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ การหยุดและกลับมามองที่ตนเองก่อนจะช่วยให้เราลดโอกาสการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ด้วยท่าทางหรือวิธีการที่ไม่เหมาะสมได้ และยังช่วยให้เราได้ทบทวนและปรับมุมมองเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเตรียมพร้อมในการปรับตัวมากขึ้นด้วย
2.) Self-control
EQ ทำให้เราสามารถควบคุมตัวเองได้ในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเกิดการพัฒนา Adaptability skill ในเวลาต่อมา เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องฝึกการควบคุมอารมณ์ของตัวเองโดยเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ เช่น การคิดก่อนลงมือทำ หายใจเข้าลึกๆ คิดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นถ้าเราทำตามอารมณ์ในตอนนั้น ลองเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคิด ก็จะช่วยให้เราควบคุมและจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้และพร้อมปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง หรือ Change ในที่สุด
3.) Social awareness
การรับรู้ว่าคนอื่นๆนั้นรู้สึกอย่างไรก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนา Adaptability ได้เช่นกัน โดยควรเริ่มสังเกตจากคำพูด ท่าทาง สีหน้าที่แสดงออก และทำความเข้าใจว่าอีกฝ่ายนั้นกำลังรู้สึกอย่างไร พยายามทำความเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น ฟังอย่างตั้งใจ และตอบสนองกลับไปอย่างเหมาะสม เพื่อหาวิธีในการปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อทำให้สถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้นในที่สุด
4.) Social skills
อีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้เรามี EQ ที่ดีจนสามารถพัฒนา Adaptability ได้ก็คือ ทักษะทางสังคม ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นอย่างมาก เราจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของการสื่อสาร การแสดงท่าทาง ว่าต้องทำอย่างไรให้คนอื่นรู้สึกดีและสัมผัสได้ว่าเราเป็นมิตร หรือการอสดงออกแบบไหนบ้างที่ต้องระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจผิดได้ โดยจุดเริ่มต้นง่าย ๆ อาจจะเริ่มจากการสบตากับผู้พูดขณะฟัง แสดงความกระตือรือร้นขณะที่พูดคุย แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานจะเห็นว่าก่อนที่เราจะมี Adaptability เพื่อให้สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆที่เจอได้ เราจะต้องมี Emotional Intelligence หรือ ความฉลาดทางด้านอารมณ์ในระดับที่ดีเสียก่อน เพราะจะช่วยให้เราสามารถพัฒนา Soft skills นี้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาคนในองค์กรให้มีทักษะทางสังคม ส่งผลให้การทำงานร่วมกันเป็นไปด้วยดี และไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรทุกคนก็จะร่วมมือช่วยกันแก้ไข และพากันก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จในที่สุด