7 เทคนิค เพิ่มสกิล Resilience ดูแลใจตัวเองพร้อมรับมือกับความท้อแท้ได้ง่ายเหมือนใจคิด

Last updated: 21 ก.พ. 2566  |  1630 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Resilience

ในการทำงานเราอาจจะเจอกับปัญหาที่ทำให้รู้สึกท้อแท้ได้ ดังนั้นการดูแลใจตัวเองด้วยการฝึกทักษะ Resilience จึงเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงนำเทคนิคที่ช่วยฝึกทักษะดังกล่าวมาฝากกัน

Resilience แปลว่า ความสามารถในการฟื้นตัว โดยหลายคนมักใช้ในอีกความหมาย นั่นก็คือ ความสามารถในการกลับสู่สภาพเดิม หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การกลับมาฮึดสู้ สามารถปรับตัวในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดได้ไวในช่วงเวลาที่เราเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือความเปลี่ยนแปลง ซึ่ง Resilience นี้เรียกได้ว่าเป็น Competency หรือสมรรถถนะที่จำเป็นอย่างมากในยุคNew Normal แบบนี้และองค์กรหลายแห่งก็ต้องการพัฒนาคนในองค์กรให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถนี้ติดตัวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือคนในทีมก็ตาม เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน นั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก มีความผันผวนสูง และเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้มนุษย์วัยทำงานอย่างเราเกิดความเครียดและรู้สึกท้อแท้จนส่งผลกับสุขภาพกายและใจโดยรวม และเกี่ยวเนื่องถึงประสิทธิภาพของการทำงาน เพราะฉะนั้นเราจึงควรฝึกทักษะในการฟื้นตัวหรือ Resilience ติดตัวไว้ อย่างน้อยก็ช่วยให้เราดูแลใจตัวเองในวันที่รู้สึกท้อแท้ได้ และความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience นั้นไม่จำเป็นต้องนำมาใช้แต่ในเรื่องงานเท่านั้น เรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ Resilience Skill ก็ช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ด้วยเช่นกัน  ในบทความนี้เราจึงได้รวบรวมเทคนิคในการเสริมสร้างความสามารถดังกล่าวมาฝากกัน 

เทคนิคเพิ่ม Resilience ที่จะช่วยทำให้เรารับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ง่ายขึ้น

1.) พักสมอง หยุดจดจ่อกับงานที่ทำสักพัก

เนื่องจากบทความบนเว็บไซต์ The Wellbeing Thesis ได้บอกเอาไว้ว่า ในแต่ละวันที่ต้องทำงาน การพักเบรคทั้งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น การพักเบรกกินกาแฟหรือดื่มน้ำ หรือการพักเบรกในช่วงเวลายาว เช่น การทานอาหารกลางวันล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยลดความเครียด และความเหนื่อยล้าจากงานที่ทำได้ เพราะฉะนั้นหากเราเริ่มรู้สึกท้อแท้ หรือแก้ปัญหาไม่ได้สักที โดยเฉพาะปัญหาที่แก้ยาก มีความซับซ้อน การพักจากงานตรงหน้าแล้วเปลี่ยนไปจดจ่อกับสิ่งอื่นๆ แทน เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายบ้าง คือ สิ่งแรกที่ควรทำ และการพักเบรกยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้าง Resilience อีกด้วย

เมื่อเราปล่อยเรื่องเครียดๆ ไว้ข้างหลังสักครู่ สมองของเราที่ทำงานมาด้วยความเหนื่อยล้าก็จะสามารถอาศัยจังหวะนี้ได้พัก เพื่อให้เกิดเกิดความผ่อนคลาย ตัวเราก็เหมือนกับได้ชาร์จแบตจนเต็ม และได้ฟื้นฟูจิตใจให้กลับมาแจ่มใส พร้อมสำหรับการทำงานหรือการคิดเพื่อแก้ปัญหาอีกครั้ง นอกจากนั้นการพักเบรกเพื่อให้สมองปลอดโปร่งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือไอเดียแปลกใหม่ จนสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคที่ช่วยดูแลใจแบบ Resilience และเพิ่ม ความคิดสร้างสรรค์หรือ Creativity ให้กับมนุษย์วัยทำงานอย่างเราไปในตัวเลย

2.) มองโลกในแง่ดีเข้าไว้

เมื่อเราเจอกับความผิดพลาดหรือล้มเหลว ไม่ว่าเราจะทำงานในตำแหน่งใด เป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง เราก็อดมีความคิดในแง่ลบไม่ได้ และยิ่งถ้าไม่ได้มีการฝึกฝนให้เกิด Resilience Skill เลยก็อาจจะทำให้มีแต่ความคิดด้านลบวนอยู่ในอ่าง คิดแบบเดิมอยู่ซ้ำๆ ยิ่งคิดยิ่งแย่ ท้อแท้ หมดกำลังใจ ซึ่งถ้าหากเราคิดซ้ำ ย้ำพฤติกรรมการคิดลบอย่างนี้อยู่บ่อยๆก็อาจจะจะส่งผลต่อสารเคมีในสมองให้ มีการหลั่งฮอร์โมน Cortisol หรือ ฮอร์โมนแห่งความเครียด ออกมามากเกินไป และมันอาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองของเราและมีผลต่อสุขภาพจิตของเราในที่สุด

ดังนั้น ถ้าเราฝึกมองโลกในแง่ดีบนพื้นฐานของความเป็นจริง หรือ Realistic Optimist เอาไว้ เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดจนเกิดความรู้สึกท้อแท้ เราก็จะสามารถดูแลใจตัวเองและผ่านมันไปได้ เพราะ Soft Skills ในด้านความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience มีเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง โดยเราสามารถฝึกฝนโดยอาจเริ่มจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น หัวหน้าย้ายเราไปทำงานในตำแหน่งที่ไม่ถนัด แทนที่เราจะคิดว่าเราโชคร้าย หัวหน้าไม่ชอบเราจึงย้ายเราไปแบบนี้ เราสามารถลองมองถึงข้อดีของการโยกย้ายในครั้งนี้ได้ว่า อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ การทำงานแบบใหม่ๆ เพื่อให้ได้ประสบการณ์และความรู้ที่เราอาจสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต

3.) ฝึกยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง

“ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน” คือประโยคที่ฟังดูเชยๆ แต่เป็นประโยคที่อธิบายความเป็นไปของโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี ในชีวิตการทำงานของเราหรือแม้แต่ในชีวิตส่วนตัว เราก็มักจะเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่บ่อยๆ ในแง่ของการทำงานองค์กรแต่ละแห่งนั้นก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจ และต้องมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น การฝึกตัวเองให้มีความยืดหยุ่นหรือ Adaptability ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience ก็จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น

ดร. Elizabeth Scott ผู้เขียนบทความเรื่อง How to Adapt to a Stressful Situation ได้เขียนในบทความไว้ว่า “เราจะสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ หากเรารู้จักที่จะเปลี่ยนความคิด” เพราะความคิดคือจุดเริ่มต้น หากเราพบกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝัน เราควรเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิดของตัวเองก่อน แทนที่จะคิดว่าทำไมเราถึงโชคร้ายต้องมาเจอกับความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ลองตั้งคำถามเพื่อถามตัวเองว่า ไหนๆ การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นแล้ว เราจะทำใจให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร เราจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาตนเองอย่างไรให้เรามีความสามารถมากขึ้น เพียงเท่านี้เราก็อาจจะเห็นมุมมองที่ดีที่ทำให้เราทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น

4.) ปรึกษากับคนที่ไว้ใจ

ในช่วงเวลาที่กำลังรู้สึกท้อใจกับเรื่องที่เจอ การได้ปรึกษาเรื่องเครียดๆ และได้ใช้เวลากับคนที่เรารู้สึกไว้ใจอย่างเพื่อนสนิท ครอบครัว หรือแฟน นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลายคนอาจจะคิดว่า ปรึกษาไปก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะเขาเหล่านั้นก็ช่วยเราไม่ได้อยู่ดี แม้ว่าการบอกเล่าเรื่องราวให้คนที่เราไว้ใจจะไม่สามารถทำให้ปัญหาที่เจอหมดไป แต่อย่างน้อยเราก็ได้แบ่งปันความรู้สึกและอาจได้รับกำลังใจจากคนที่รัก ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูจิตใจของเราให้กลับมาสดใสได้ดีขึ้น

นอกจากผู้ใหญ่อย่างเราจะต้องการคนที่ไว้ใจอยู่เคียงข้างในวันแย่ๆ แล้ว เด็กๆ เองก็ได้รับอิทธิพลที่ดีในการได้ห้อมล้อมอยู่กับเพื่อนสนิทเวลาเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีอีกด้วย โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาในปี 2011 พบว่า การที่เด็กๆ ได้อยู่กับเพื่อนสนิทในช่วงเวลาที่ไม่ดีจะเป็นเกราะป้องกันให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นมีผลกระทบกับพวกเขาน้อยลง  การที่เด็กได้อยู่กับเพื่อนสนิทในช่วงเวลาเลวร้ายระดับฮอร์โมน Cortisol หรือ ฮอร์โมนแห่งความเครียดจะมีระดับที่น้อยกว่าเวลาถ้าไม่มีเพื่อนสนิทอยู่ด้วย เรียกได้ว่าคนที่เราไว้ใจจะมีส่วนช่วยให้เราสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ดีจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ สำหรับบางคนยิ่งต้องได้รับการกระตุ้นจากคนรอบๆ ตัวก่อนถึงจะสามารถฟื้นตัวและกลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้งหนึ่ง

5.) อย่าลืมใส่ใจตัวเอง เลือกทำกิจกรรมที่ชอบ

การที่เราจะมี Resilience ได้นั้น นอกจากจะต้องพัฒนาความคิด เปลี่ยนมุมมองในเรื่องต่างๆ แล้ว ก็จะต้องหันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายของตัวเองด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีหลายครั้งที่ความเครียดและความกังวลต่างๆ ทำให้เราละเลยการดูแลตัวเอง ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ จนส่งผลให้ฟื้นตัวกลับมาได้ช้ากว่าที่คิด นอกจากนั้นอาจทำให้มีอาการป่วยตามมา ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกท้อแท้มากขึ้นได้

ดังนั้น อย่าลืมใส่ใจความต้องการของตัวเอง ทำให้ตัวเองแข็งแรงและมีความสุขเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการพื้นฐาน อย่างเช่น การรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หรือจะเป็นการทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายอย่างการเล่นเกม อ่านนิยาย ดูซีรี่ส์ที่ชอบ ฯลฯ ก็มีส่วนช่วยสร้าง Resilience Skill ได้เช่นกัน

6.) หมั่นออกกำลังกาย

ในบทความของดร. Debra Fulghum Bruce ได้บอกว่า การออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์มากสำหรับคนที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งมีทั้งความรู้สึกเศร้าและท้อใจกับเรื่องต่างๆ การออกกำลังกายจะช่วยให้สมองสั่งการให้มีการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขอย่าง Endorphine ออกมา ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกดีและสดใสมากขึ้น ลดความรู้สึกเชิงลบลงไปได้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยสร้าง Resilience ให้กับเราได้

นอกจากนั้น ยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและช่วยทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นด้วยโดยรูปแบบการออกกำลังกายที่คนส่วนใหญ่แนะนำและช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้ดีก็จะเป็นโยคะ แต่สำหรับบางคนที่ไม่ชอบการอยู่นิ่งๆ ทำอะไรช้าๆ การออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือเต้น Zumba ก็ช่วยสร้างความเพลิดเพลินและลดความรู้สึกด้านลบได้ดีไม่แพ้กัน ส่วนถ้าใครไม่ชอบกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อก็สามารถเลือกออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำก็ให้ผลดีเช่นกัน

7.) ตั้งเป้าหมายใหม่

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกท้อใจกับงานที่ทำ อาจจะมาจากการที่เราไม่มีเป้าหมายในการทำงานก็เป็นได้ ทำให้แรงจูงใจในการทำงานของเรามีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แล้วเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดเข้ามากระทบก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกท้อแท้ใจได้ง่าย และยังทำให้กลับมาฮึดสู้ตามแบบฉบับของคนที่มีสกิล Resilience ได้ยากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการตั้งเป้าหมายใหม่ในการทำงาน เช่น ทำงานเพื่อเก็บเงินซื้อบ้าน ทำงานเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง หรืออาจจะเริ่มต้นด้วยเป้าหมายง่ายๆก็ได้ เช่น ถ้าแก้ปัญหาได้ จะได้ทานของอร่อย หรือถ้าทำโปรเจกต์เสร็จ จะได้ดูซีรี่ส์ที่ชอบ เป็นต้น จะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจในในการต่อสู้กับปัญหาได้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทักษะ Resilience จนกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น การตั้งเป้าหมายใหม่แบบนี้ ยังช่วยกระตุ้นเรารู้จักที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีความสามารถมากขึ้น ทำให้เราได้มีโอกาสลองฝึกทักษะใหม่ๆ ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills อยู่เสมอด้วย

สำหรับเทคนิคเพิ่ม Resilience ที่นำมาฝากกันในบทความนี้ ก็ยังเป็นเทคนิคที่มีส่วนช่วยให้เรามี Adaptabilty มากขึ้นด้วย ช่วยทำให้เราสามารถดูแลจิตใจให้กลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคง่ายๆ ที่เราทุกคนสามารถทำได้ไม่ยากจนเกินไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้