Last updated: 24 ส.ค. 2566 | 2933 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะผู้นำ หรือ Leadership กลายเป็นทักษะที่องค์กรชั้นนำในศตวรรษที่21 ต่างก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากทักษะนี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน และยังช่วยให้พนักงานทุกคนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนั้นแล้ว Leadership Skill ยังมีประโยชน์มากมายในสถานการณ์ที่มีแต่ความไม่แน่นอนดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งจะทำอย่างไรให้พนักงานในองค์กรสามารถเป็นผู้นำในสถานการณ์เหล่านั้นได้ ทาง Plusitives ได้รวบรวมคำตอบมาให้คุณแล้ว
ภาวะผู้นำ คืออะไร
ภาวะผู้นำ หรือ Leadership ทาง American Psychological Association ได้ให้ความหมายในทางจิตวิทยาไว้ว่า “กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการชักจูงให้ผู้อื่นรู้สึกเชื่อและทำตาม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ การบริหารงานต่างๆ การออกคำสั่ง การประสานงาน รวมไปถึงการสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้อื่นทุ่มเทและพัฒนาศักยภาพจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในที่สุด” แต่หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ก็คงต้องเป็นคำนิยามของ John C. Maxwell นักเขียนชาวอเมริกันที่มีผลงานชื่อดังมากมาย ซึ่งเขาได้นิยามคำว่า Leadership ไว้ว่า “Leadership is influence, nothing more, nothing less.” แปลว่า ภาวะผู้นำ คือ การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น ไม่มีอะไรที่มากหรือน้อยกว่านั้น โดยที่อิทธิพลที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นไปในทิศทางบวกหรือลบก็ได้ แต่คนที่มีภาวะผู้นำที่ดีจะต้องมีทัศนคติที่ดีและสามารถชักจูงให้ผู้อื่นมีความคิดไปในทิศทางบวก แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ก็จะต้องทำให้สมาชิกภายในทีมมีความเชื่อมั่น สร้างแรงกระตุ้น และเติมพลังใจให้กับสมาชิกภายในทีมให้มีแรงสู้ พร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยกันได้
สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เป็นแบบไหน มีอะไรบ้าง
Uncertain Situation หรือ สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทาง Cambridge Dictionary ได้ให้ความหมายไว้ว่า “สถานการณ์ที่ไม่สามารถทำนายหรือคาดเดาเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อีกทั้งยังทำให้ตัดสินใจอะไรได้ยากมากกว่าปกติ” ซึ่งสถานการณ์แบบนี้มักจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร โดยที่สามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหัวหน้าทุกคนควรฝึกฝน Leadership Skill เพื่อรับมือกับสถานการณ์แบบนี้นั่นเอง
โดยเมื่อไม่นานมานี้ ทั่วโลกก็เพิ่งจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 กันมา ธุรกิจทุกประเภทล้วนได้รับผลกระทบทั้งนั้น อีกทั้งยังไม่สามารถคาดเดากับอนาคตได้ เพราะยังไม่มีวิธีรักษาและวิธีป้องกันไม่ให้ติดเชื้อแบบ 100% ผู้นำประเทศทั่วโลกจึงต้องหาวิธีเรียกความเชื่อมั่นพร้อมทั้งวางมาตรการการป้องกันเชื้อ ซึ่งจะต้องอาศัยภาวะผู้นำ หรือ Leadership ในการตัดสินใจและวางแผนรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต
ตัวอย่างสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
- การโยกย้ายตำแหน่งพนักงาน
- การเปลี่ยนแปลงหัวหน้าโปรเจ็กต์อย่างกะทันหัน
- การเกิดวิกฤตทางการเงิน
- การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ
- การเกิดโรคระบาด
- การเกิดภัยธรรมชาติ
ภาวะผู้นำ มีความสำคัญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอย่างไร
1.) ช่วยลดความเครียดของพนักงาน
เมื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่คาดคิด ก็มักจะเกิดความเครียดและความกลัวตามมาด้วย ซึ่งพนักงานบางคนก็สามารถจัดการกับอารมณ์ด้านลบของตนเองได้ แต่สำหรับบางคนนั้นไม่สามารถทำได้ ภาวะผู้นำที่ดีของผู้นำองค์กรหรือหัวหน้าทีมจึงกลายเป็นทักษะสำคัญ ที่จะช่วยโน้มน้าวให้พนักงานมีความคิดเป็นไปทิศทางบวกและสามารถจัดการกับอารมณ์ด้านลบได้ในที่สุด
เมื่อความเครียดลดลง ก็จะส่งผลให้สมองสั่งการให้ต่อมหมวกหลั่งฮอร์โมน Cortisol ออกมาน้อยลง ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้ รวมไปถึงปัญหาด้านความจำก็จะดีขึ้นด้วย อ้างอิงจากผลการศึกษาของ Sami Ouanes และ Julius Popp ดังนั้น ทุกองค์กรควรมีการพัฒนาทักษะ Leadership Skill ให้กับหัวหน้าทีมอยู่เป็นประจำ เพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีต่อสุขภาพจิตของทุกคน
2.) ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน
เชื่อว่าหลายคนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจะต้องรู้สึกท้อใจบ้างในบางเวลา เพราะไม่รู้ว่าตนเองจะต้องจัดการกับงานอย่างไรต่อไป ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หัวหน้าทีมที่มีภาวะผู้นำที่ดีจะสามารถจัดการกับปัญหานี้พร้อมเติมพลังใจให้ทุกคนกลับมาฮึดสู้ไปด้วยกันอีกครั้ง สมองก็จะมีการสั่งการให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Dopamine ทำให้มีการเรียนรู้และตัดสินใจได้ดีมากขึ้นด้วย อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ noesislearning.com
3.) ช่วยลดอัตรา Turn Over ของพนักงาน
ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ผู้นำมีบทบาทสำคัญในการวางแผนและตัดสินใจเป็นอย่างมาก หากผู้นำองค์กรรวมไปถึงหัวหน้าทีมมีภาวะผู้นำ หรือ Leadership ที่ดี ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานได้ ในทางกลับกัน หากผู้นำไม่มีภาวะความเป็นผู้นำอยู่เลย ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ สื่อสารด้วยภาษาเชิงลบเป็นประจำ อาจจะส่งผลให้พนักงานเกิดความรู้สึกอึดอัด หมดความไว้วางใจในตัวผู้นำ และจบด้วยการยื่นใบลาออก อ้างอิงจากผลสำรวจของ บริษัท Visier ที่มีการพบว่า 43% ของพนักงาน ตัดสินใจลาออกเมื่อเจอกับหัวหน้างานที่ไม่ดี
เทคนิคพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
1.) ฝึกโฟกัสกับปัจจุบัน
ผู้นำที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนได้ อันดับแรกจะต้องเป็นคนที่ตั้งสติและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ไว เลือกโฟกัสกับปัจจุบันแทนที่จะกังวลกับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถฝึกฝนได้โดยการนั่งสมาธิหรือฟังดนตรีบำบัด นอกจากวิธีนี้จะช่วยพัฒนาภาวะผู้นำแล้ว ยังช่วยให้คุณผ่อนคลายและกำจัดอารมณ์ด้านลบได้อีกด้วย
2.) ฝึกสื่อสารให้ตรงประเด็น มีความชัดเจน
การสื่อสารถือเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก หากสื่อสารได้ไม่มีประสิทธิภาพ อาจทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายตามมาได้ ดังนั้น ผู้นำที่ต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ หรือ Leadership จะต้องมีการฝึกฝนทักษะการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ สามารถโน้มน้าว อธิบายและสร้างความชัดเจนให้กับคนในทีมได้
3.) ฝึกตัดสินใจ
ทักษะการตัดสินใจมีความจำเป็นต่อการพัฒนาภาวะผู้นำ หรือ Leadership ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากในสถานการณ์ดังกล่าวคุณไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย จึงจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่เพื่อคาดการณ์และใช้ในการเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด อ้างอิงจากบทความของ Tyler King
4.) ฝึกยอมรับข้อผิดพลาด
ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ผู้นำทุกคนควรยอมรับในความไม่รู้และความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ให้มองข้อผิดพลาดเป็นบทเรียนที่จะทำให้คุณและทีมสามารถไปต่อได้ โดยที่จะต้องไม่มีการกล่าวโทษกันและกัน ซึ่งจะทำให้คนในทีมกล้าเสนอไอเดียและช่วยกันคิดหาวิธีรับมือ สุดท้ายก็จะช่วยกันฝ่าฟันไปสู่เป้าหมายได้ในที่สุด
จะเห็นว่าการที่หัวหน้าทีมมีภาวะผู้นำ หรือ Leadership ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนั้น มีส่วนสำคัญต่อประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีมอย่างมาก ดังนั้น หากต้องการพัฒนาองค์กรให้แข็งแกร่ง สามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ได้ ก็ควรจะมีการพัฒนาทักษะ Leadership Skill ให้กับพนักงานอยู่เสมอ ซึ่งทาง Plusitives เชื่อว่าทุกคนจะสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้ และพาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://workwithimpact.co.uk/news/managing-uncertainty-at-work/
https://www.peoplemanagement.co.uk/article/1755785/two-five-employees-quit-bad-manager-study-finds
https://thematter.co/social/how-to-deal-with-uncertainty-situation/148099