Last updated: 30 ม.ค. 2567 | 11630 จำนวนผู้เข้าชม |
หากพูดการปรับ Mindset หลายคนมักจะรู้จักกิจกรรมนี้เป็นอย่างดี เพราะมักจะถูกนำมาใช้ในกิจกรรมอบรมพัฒนาทักษะของพนักงาน ทำให้หลายคนรู้จักกับคำว่า กรอบความคิด (Mindset) และ ทัศนคติ (Attitude) แต่รู้หรือไม่ว่า ทั้ง 2 คำนี้ มีความหมายไม่เหมือนกัน ในบทความนี้ ทาง Plusitives จึงขออาสาพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับความหมายของแต่ละคำใหม่อีกครั้ง พร้อมทั้งนำเทคนิคดีๆ ในการพัฒนาตนเองมาฝากกันอีกด้วย
Mindset คืออะไร
คำว่า Mindset หรือ กรอบความคิด คือ ชุดความคิด หรือกรอบความคิดที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ และเป็นวิธีคิดของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความเชื่อและการตัดสินใจของคนเรา ซึ่งมาจากการที่เรามีทัศนคติแบบใดแบบหนึ่งอย่างซ้ำๆ ในขณะที่ทัศนคติคือ ความคิดและมุมมองของเรา การตีความและตอบสนองต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง อ้างอิงจากความหมายที่ทางเว็บไซต์ vocabulary.com ได้อธิบายไว้ ดังนั้น การปรับ Mindset ก็คือ การที่เราพยายามปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด หรือกรอบความคิดที่เราใช้มองโลกนั่นเอง
โดยในปัจจุบันจะมีการแบ่งกรอบความคิด หรือ Mindset ออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ กรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset และ กรอบความคิดแบบยึดติด หรือ Fixed Mindset ซึ่งเป็นแนวคิดของ Carol Dweck นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่ใช้เวลาศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรม ความคิด และทัศนคติที่ทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จ จนในที่สุดก็ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
กรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset
Growth Mindset คือ ความเชื่อที่ว่าความสามารถและทักษะสามารถพัฒนาได้ ซึ่งกรอบความคิดแบบนี้จะส่งผลให้พนักงานในองค์กรมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาทักษะของตนเอง อีกทั้งยังสามารถรับมือกับความท้าทายและความผิดพลาดต่างๆ ได้ดี อ้างอิงจากบทความของ Jacob Morgan บนเว็บไซต์ linkedin.com ด้วยเหตุนี้นี่เอง องค์กรชั้นนำหลายแห่งจึงมักจะจัดอบรมกิจกรรมปรับ Mindset ของพนักงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น
กรอบความคิดแบบยึดติด หรือ Fixed Mindset
Fixed Mindset คือ ความเชื่อที่ว่าความสามารถและทักษะเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โดยที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะนั้นๆ ให้ดีขึ้นได้ เป็นกรอบความคิดที่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จ และไม่ต้องการให้เกิดความผิดพลาดใดๆ กับงานที่ทำ ทุกอย่างจะต้องเพอร์เฟ็กต์ตามที่วางแผนไว้ (Perfectionist) ซึ่งความคิดแบบนี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานลดลง อีกทั้งความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น เพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหา อ้างอิงจากผลการศึกษาของ Sarah Zintz ที่พบว่านักเรียนที่มี Fixed Mindset จะมีผลการเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่านักเรียนที่มี Growth Mindset นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมองค์กรชั้นนำทั่วโลกต่างก็ต้องการให้พนักงานปรับ Mindset นั่นเอง
ทัศนคติ หรือ Attitude คืออะไร
Attitude หรือ ทัศนคติ หมายถึง ชุดความเชื่อ อารมณ์ และพฤติกรรมที่มีต่อบุคคล สิ่งของ หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นไปในทางบวกหรือลบก็ได้ อ้างอิงจากบทความของ Kendra Cherry โดยทัศนคตินั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ประสบการณ์ การเรียนรู้ การสังเกตผู้คนรอบตัว เป็นต้น และส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ
กรอบความคิด Vs ทัศนคติ
กรอบความคิดและทัศนคติ แม้จะไม่ได้มีความหมายเหมือนกัน แต่ทั้ง 2 คำนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกัน โดยอ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ fourstreamcoaching.com ในทางจิตวิทยา “ทัศนคตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Mindset” โดย การที่เรามีทัศนคติแบบใดแบบหนึ่งซ้ำ ๆ ก็จะเป็นส่วนในการสร้างกรอบความคิดหรือ Mindset
Mindset หรือ กรอบความคิด คือ มุมมองที่เราใช้มองโลก ในขณะที่ทัศนคติ หรือ Attitude นั้น คือ การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากมุมมองที่เราใช้มองโลกใบนี้ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อ Mindset ด้วย ดังนั้นการปรับ Mindset จึงส่งผลต่อทัศนคติในการใช้ชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น กรอบความคิดเป็นสิ่งที่สังเกตได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นความคิดที่อยู่ภายในจิตใจของแต่ละบุคคล ไม่สามารถมองผ่านเข้าไปได้ ตรงกันข้ามกับทัศนคติที่จะสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้จากสมองส่วน Prefrontal Cortex อ้างอิงจากบทความของ Memory and Aging Center ของ UCSF
Mindset แบบไหน มีประโยชน์กับการทำงานมากที่สุด
หลังจากที่เราทำความเข้าใจกับความแตกต่างของกรอบความคิดและทัศนคติกันไปแล้ว ทีนี้มาถึงคำถามที่หลายคนสงสัยกันบ้าง “ต้องมี Mindset แบบไหน ถึงจะมีประโยชน์กับการทำงานมากที่สุด” งานวิจัยและบทความของนักจิตวิทยาส่วนใหญ่มักจะให้คำตอบเดียวกัน ซึ่งคำตอบนั้นก็คือ Growth Mindset หรือ กรอบความคิดแบบเติบโต นั่นเอง โดยอ้างอิงจากบทความของ Caroline Castrillon ที่มีการพูดถึงความคิดและพฤติกรรมของพนักงาน มีการระบุว่า พนักงานที่มีการปรับ Mindset ให้เป็นแบบ Growth Mindset จะชอบมองหาโอกาสในการเรียนรู้อยู่เสมอ อีกทั้งยังมองความผิดพลาดเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจในการพัฒนาทักษะ ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพของตนเองได้มากกว่าคนอื่นๆ และสามารถพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ ที่สำคัญก็คือ กรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset นั้นยังส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง เพราะจะทำให้เซลล์ประสาทเกิดการเชื่อมต่อในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำกับรูปแบบเดิม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย อ้างอิงจากบทความของ Margie Meacham
เทคนิคปรับ Mindset ในการทำงานที่ใครๆ ก็ทำได้
1. โฟกัสสิ่งที่ได้เรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ที่ได้
การปรับ Mindset ในการทำงานสามารถเริ่มต้นได้จากการเปลี่ยนความคิดที่มีต่อการทำงานแต่ละชิ้นที่ได้รับมอบหมาย โดยให้คำนึงถึงสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากการทำงานในแต่ละครั้ง แทนที่จะให้ความสำคัญกับผลลัพธ์และคำชมที่เราจะได้เพียงอย่างเดียว นี่คือหัวใจสำคัญของกรอบความคิดแบบ Growth Mindset ที่หัวหน้าทีมมีส่วนสำคัญในการโน้มน้าว รวมไปถึงการสนับสนุนให้ทุกคนในทีมมีแนวความคิดไปในทิศทางเดียวกัน
2. ความสำเร็จและความผิดพลาด คือ การเรียนรู้
นี่คือข้อคิดที่ควรทำความเข้าใจ หากต้องการปรับ Mindset ของตนเองเพื่อพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความผิดพลาด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในการทำงานคือบทเรียนที่มีค่า เป็นบทเรียนที่จะช่วยให้เราสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นหัวหน้าทีมก็จะต้องแสดงออกให้สมาชิกในทีมเห็นว่า ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องที่แย่ ใครๆ ก็สามารถผิดพลาดได้ทั้งนั้น แต่ที่สำคัญเราควรเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและไม่ควรทำผิดซ้ำอีก หัวหน้าสามารถอนุญาตให้เกิดข้อผิดพลาดเล็ก ๆน้อยๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในงานที่มีความเสี่ยงหรือผลกระทบจากข้อผิดพลาดต่ำ แต่ไม่ควรเปิดโอกาสให้เกิดความผิดพลาดในงานที่มีความเสี่ยงหรือผลกระทบจากข้อผิดพลาดสูง เช่นงานทางด้านความปลอดภัย เป็นต้น
3. สนับสนุนให้ทำในสิ่งที่ชอบ
รู้หรือไม่ การได้ทำในสิ่งที่ชอบจะทำให้คุณมีความกระตือรือร้นและความทุ่มเทให้กับสิ่งที่ทำมากกว่าสิ่งอื่นใด นอกจากนั้นยังทำให้รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้อีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหัวหน้าทีมถึงควรสนับสนุนให้ทุกคนได้ทำหน้าที่ที่ถนัด และควรให้รางวัลเป็นคอร์สพัฒนาทักษะที่แต่ละคนอยากได้แทนรางวัลแบบอื่นๆ เพื่อช่วยปรับ Mindset ให้ทุกคนในทีมเป็นกลายเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้เสมอ อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ pickthebrain.com
4. เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น
หลีกเลี่ยงการคล้อยตามความคิดของคนอื่นๆ เพราะอาจจะทำให้การตัดสินใจนั้นๆ มีประสิทธิภาพลดลง และอาจนำไปสู่การมีกรอบความคิดแบบ Fixed Mindset ได้ ดังนั้น จึงควรปรับ Mindset ให้หัดมองโลก มองสิ่งต่างๆ รอบตัวในมุมที่แตกต่างออกไปจากเดิมบ้าง เพื่อที่จะช่วยให้ทีมพบกับตัวเลือกที่เหมาะสมและดีต่อการทำงานมากที่สุด นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิด วิเคราะห์ และต่อยอดได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย
กรอบความคิดและทัศนคติแตกต่างกันอย่างไร แล้วความคิดแบบไหนมีประโยชน์ต่อการทำงานมากที่สุด ทุกคนคงได้คำตอบจากบทความนี้แล้ว ส่วนเทคนิคการปรับ Mindset ที่ทาง Plusitives ได้สรุปมาให้ ก็เป็นขั้นตอนง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถฝึกและเริ่มต้นปรับเปลี่ยนได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อพัฒนาทักษะ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเป็นการฝึกสมองไปในคราวเดียวกัน อนาคตที่ประสบความสำเร็จอยู่ไม่ไกล มาเริ่มพัฒนาตนเองตั้งแต่วันนี้เลย!