Last updated: 11 มิ.ย. 2567 | 2087 จำนวนผู้เข้าชม |
ในบทความวันนี้ ทีม Plusitives จะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจความสำคัญและการประยุกต์ใช้ภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leadership) ในทางปฏิบัติ ตลอดจนวิธีการก้าวสู่การพัฒนาตนเองสู่การมีภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม รับรองว่าความเป็นผู้นำของคุณไม่เพียงแต่มีจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังเหมาะสมในเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจอีกด้วยค่ะ
ภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leadership) คืออะไร?
ภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leadership) เป็นรูปแบบความเป็นผู้นำที่พยายามรวมการมีส่วนร่วมและมุมมองของสมาชิกในทีมทุกคนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานมาจากความเห็นอกเห็นใจ ความเคารพ และความเข้าใจในความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ในแง่ของชาติพันธุ์ เพศ และรสนิยมทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประสบการณ์ ความคิด และมุมมองด้วย ผู้นำที่มีภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วมจะมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานทุกคนรู้สึกมีคุณค่า เข้าใจ และได้รับพลังในการมีส่วนร่วมในการทำงานที่ดีที่สุดของตนหรือที่เรียกว่าความปลอดภัยทางด้านจิตใจ (Psychological Safety) นั่นเองค่ะ
เหตุใดภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leadership) จึงมีความสำคัญ?
ภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leadership) จะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่หลากหลายและครอบคลุมที่จะทำให้คนในทีมรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ได้รับความเคารพ และมีแรงจูงใจในการทำงาน นอกจากนี้ยังสามารถสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มพูนขวัญกำลังใจของทีมให้เพิ่มสูงขึ้น และส่งเสริมการมีแนวคิดแปลกใหม่ รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมองค์กรให้พร้อมสำหรับนวัตกรรมใหม่และทำเป้าหมายให้สำเร็จได้นั่นเอง
จากการวิจัยของ Deloitte ในปี 2019 บริษัทที่มีภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม จะมีนวัตกรรมที่ดีกว่า ได้รับส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันในการแสวงหาผู้มีความสามารถระดับสูง และมีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งที่มีความหลากหลายน้อยกว่าค่ะ นอกจากนี้ Angela Randolph ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการประกอบการที่ Babson กล่าวว่า "ผู้นำที่มีภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วมจะมีความสามารถที่จะทำให้สมาชิกในทีมทุกคนรู้สึกมีคุณค่าและสบายใจ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะมีการแชร์แนวคิดแปลกใหม่และสร้างสรรค์กันมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่นวัตกรรมที่มากขึ้นเช่นกัน" นอกจากนี้ยังทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน (Psychological Safety) ซึ่งช่วยให้สมาชิกในทีมมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นและข้อกังวลอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสามารถช่วยให้องค์กรตัดสินใจได้ดีขึ้นอีกด้วย” จะเห็นได้ว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้สามารถนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานและผลประกอบการที่ดีขึ้นขององค์กรอย่างไม่ต้องสงสัยค่ะ
6Cs ลักษณะเฉพาะของความเป็นผู้นำแบบมีส่วนร่วม
1. ความมุ่งมั่น (Commitment)
ผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leader) ต้องมุ่งมั่นที่จะรับผิดชอบงานและเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงเพื่อการพัฒนา และมุ่งสู่ความสำเร็จได้โดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกให้สอดคล้องกับค่านิยมขององค์กรค่ะ
2. ความกล้าหาญ (Courage)
ผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leader) จะมีความกล้าหาญและยืนหยัดต่อความไม่ยุติธรรม กล้าที่จะชี้ให้เห็นข้อผิดพลาด ความไม่สมบูรณ์ ความไม่เท่าเทียม ทัศนคติที่ล้าสมัย และพฤติกรรมที่ไม่ครอบคลุม แต่ยังคงไว้ซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตน ในขณะเดียวกันก็สามารถตระหนักถึงความอ่อนแอ (vulnerability) ข้อจำกัด จุดอ่อน และข้อผิดพลาดของทั้งตนเองและคนในทีม พร้อมโอบรับและเข้าใจคนในทีมที่มีความหลากหลายเพื่อช่วยให้เข้าใจพวกเขาได้ดีขึ้น เรียกได้ว่าเป็นผู้นำที่มีทั้งความกล้าหาญและมีความอ่อนโยนและความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ไปพร้อม ๆ กันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้เป็นอย่างดีค่ะ
3. การรับรู้อคติโดยไม่รู้ตัว (Cognisance of unconscious bias)
ในแง่การทำงานของสมอง เราทุกคนล้วนมีอคติส่วนตัวที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะมาจากการเลี้ยงดู การศึกษา ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือประสบการณ์ชีวิต แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราสามารถตระหนักถึงอคติที่เกิดขึ้นของเราได้หรือไม่ ผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leader) ต้องสามารถตระหนักได้ถึงอคติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวของตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถจัดการกับมันได้เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ด่วนตัดสินบุคคลอื่น รวมไปถึงสามารถตัดสินใจจากข้อมูลด้วยความโปร่งใส และพัฒนาด้านความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ไปได้พร้อม ๆ กันค่ะ
4. ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity)
ผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leader) จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนในทีมแต่ละคน ตั้งแต่สิ่งที่พวกเขาต้องการไปจนถึงสิ่งที่สามารถส่งเสริมเพิ่มเติมให้พวกเขาได้โดยการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) การตั้งคำถามอย่างทรงพลัง (Powerful Question) การให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ (Constructive Feedback) และรวมถึงการใช้ประโยชน์จากมุมมองที่หลากหลายของคนในทีมและเปิดโอกาสให้พวกเขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และมีโอกาสตัดสินใจ (Decision-making) อีกด้วยค่ะ
5. ความฉลาดทางวัฒนธรรม (Cultural intelligence)
ความอยากรู้อยากเห็นนำไปสู่ความฉลาดทางวัฒนธรรมตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leader) ซึ่งในปัจจุบัน เราอาจมีโอกาสได้ทำงานกับชาวต่างชาติที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การให้ความสนใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของทีมและเต็มใจที่จะปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมกับผู้คนที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจะช่วยให้เกิดความสามัคคีและทำให้คนในทีมรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของทีมค่ะ
6. การทำงานร่วมกัน (Collaboration)
แน่นอนว่าการทำงานร่วมกันย่อมเกิดจากคนหลาย ๆ คนที่มีความแตกต่างหลากหมายมาอยู่ร่วมกัน ผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leader) จะสามารถช่วยให้แต่ละคนรู้สึกว่าตนสามารถพูดและมีส่วนร่วมได้ โดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยซึ่งผู้คนรู้สึกสบายใจ (Psychological Safety) ให้อิสระในการจัดการกับสถานการณ์ในแบบของตนเอง จัดสรรให้ทีมทำงานร่วมกันด้วยความเคารพ รวมไปถึงคาดการณ์ความขัดแย้งและดำเนินการอย่างเหมาะสมหากเกิดข้อขัดแย้งค่ะ
เราจะสามารถพัฒนาภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leadership) ได้อย่างไร?
Step 1: เริ่มต้นด้วยความจริงใจและเพิ่มความตระหนักรู้ในตนเอง (Embrace authenticity and deepen self-awareness)
ผู้นำควรสร้างรากฐานที่มั่นคงของความเข้าใจในตนเองและเข้าใจอคติของตนเอง ซึ่งในแง่การทำงานของสมองแล้ว อคติมาจากสมองส่วนดึกดำบรรพ์ของเราที่กังวลกับความแตกต่าง สมองของเราต้องการการประหยัดพลังงาน และไม่สามารถคิดพิจารณาทุกอย่างได้ เราจึงต้องมีกรอบ วิธีคิด และมาตรฐานความเชื่อจากสิ่งที่เราเคยเห็นมาช่วยในการคิดและตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้เอง มนุษย์อย่างพวกเราจึงไม่มีใครรอดพ้นจากอคติได้ค่ะ มีเพียงการรับรู้ถึงอคติเท่านั้นจึงจะสามารถแก้ไขอคติได้ ดึงนั้น ถึงเวลาแล้วหากเราอยากเป็นผู้นำแบบมีส่วนร่วมก็ควรที่จะดึงแว่นขยายออกมาและตรวจสอบอคติของคุณเอง ตลอดจนอคติที่มีอยู่ในวัฒนธรรม นโยบาย และขั้นตอนการทำงานในองค์กรของคุณเพื่อเริ่มระบุจุดบอด รวมถึงต้องตระหนักถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของคุณเอง สิ่งนี้จะทำให้คุณสบายใจและมั่นใจกับตัวเอง เมื่อเกิดความมั่นใจแล้ว มันจะสามารถสะท้อนกลับผ่านการ กระทำอื่น ๆ ให้สามารถเป็นผู้นำแบบมีส่วนร่วมนั่นเอง
Step 2: จัดลำดับความสำคัญของความเท่าเทียมในที่ทำงาน (Prioritize equity in the workplace )
ผู้นำอาจสำรวจว่ากระบวนการทำงานของคุณสร้างโอกาสและความเท่าเทียมสำหรับทุกคนในทีมหรือยัง? ถ้ายัง บางทีอาจถึงเวลาที่ต้องความยืดหยุ่นมากขึ้นค่ะ สำหรับผู้นำที่มองเห็น Gap ก็จะสามารถปรับปรุงพัฒนาในดีขึ้นได้ และอาจต้องพิจารณาในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทรัพยากรในการทำงานให้ตรงกับความต้องการที่หลากหลาย ก็จะให้คนในทีมรู้สึกมีความสุขในการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานสู่เป้าหมายได้ค่ะ
Step 3: มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Commit to continuous learning)
ผู้นำแบบมีส่วนร่วมควรเจาะลึกแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการไม่แบ่งแยก รวมถึงพูดคุยกับทีมของคุณเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้เป็นประจำ แม้กระทั่งเรื่องที่ไม่สบายใจก็ตาม นี่คือวิธีที่คุณจะก้าวนำเกมเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมที่ชื่นชมกันและกันเพราะสมองของเราชื่นชอบรางวัล สิ่งนี้จะทำให้คนในทีมมีแรงจูงใจและมีความสุขในการทำงาน เพื่อให้ผู้นำสามารถใช้ประโยชน์จากความหลากหลายอย่างแท้จริงค่ะ
Step 4: รับประกันโอกาสที่เท่าเทียมกัน (Ensure equitable opportunities)
หมั่นพิจารณามอบโอกาสให้กับทีมของคุณอย่างเท่าเทียม เช่น ใครจะเป็นผู้นำโครงการ? ใครเป็นผู้ให้คำปรึกษา? หากคุณเห็นความไม่สมดุลก็ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงค่ะ เพราะความเป็นธรรมในการเข้าถึงโอกาสหมายความว่าทุกคนมีโอกาสจะเปล่งประกายและเติบโต รวมถึงมีโอกาสที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรม กล้าลองผิดลองถูกส่งเสริมทัศนคติแบบเติบโต (Growth Mindset) และความยืดหยุ่น (Resilience) เตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์นั่นเองค่ะ
Step 5: ร่วมกันรับผิดชอบ (Share the responsibility for inclusion)
สร้าง DNA ของทีมให้สามารถรวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สนับสนุนให้ทีมของคุณเสนอแนวคิดและริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน และร่วมปลูกฝังทัศนคติในการทำงานร่วมกัน (Collaborative Mindset) ที่ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจ ไม่เกี่ยงงาน มีความเท่าเทียมกัน และเมื่อเกิดปัญหาความท้าทายก็ร่วมเรียนรู้และรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อผลักดันการทำงานของทีมมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับความสุขค่ะ
โดยสรุปแล้ว ความเป็นผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Leadership) เป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้แต่ละบุคคลเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการสร้างทีมที่มีความหลากหลายให้ทำงานร่วมกันแบบไม่แบ่งแยก สร้างสถานที่ทำงานที่เจริญรุ่งเรืองด้วยนวัตกรรมและประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขาสามารถทุ่มเททั้งตัวในการทำงานได้ นอกจากนี้ผู้นำแบบมีส่วนร่วมยังทำให้สามารถเพิ่มความพึงพอใจ (Satisfaction) ความมุ่งมั่น (Commitment) แรงจูงใจ (Motivation) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นวัตกรรม (Innovation) การมีส่วนร่วม (Engagement) และความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของพนักงานได้ และแน่นอนที่สุดผลลัพธ์เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวพนักงานเองและองค์กรนั่นเองค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://entrepreneurship.babson.edu/what-is-inclusive-leadership/
https://www.imd.org/reflections/how-to-be-an-inclusive-leader/
https://www.linkedin.com/pulse/what-inclusive-leadership-richness-different-manuel-pistner